โฆษกคลังหวั่นนโยบายประชานิยมตั้งใช้เงินเกินงบ รัฐบาลใหม่หากกู้เพิ่มต้องจำเป็นจริง

169
0
Share:
โฆษกกระทรวงการคลัง หวั่น นโยบาย ประชานิยม ตั้งใช้เงินเกินงบ รัฐบาลใหม่หากกู้เพิ่มต้องจำเป็นจริง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกนโยบายหาเสียงและมีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก มาตรการต่างๆ คงไม่สามารถดำเนินการภายใต้งบประมาณปี 2566 ได้ทัน และหากมีความต้องการใช้งบประมาณ ก็จะเหลือช่องว่างให้ใช้ได้อยู่อีกไม่มาก และแม้จะสามารถนำมาใช้ได้ การใช้งบส่วนนี้จะใช้กับภัยพิบัติ หรือความเสียหายที่ไม่อาจคาดเดาได้เท่านั้น รวมถึงความจำเป็นของการใช้งบในอนาคตอีกส่วนหนึ่ง ที่จะมาจากงบบางส่วน เช่น งบกลางกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่ 9.24 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งแรกคือการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จากการหารือกับสำนักงบประมาณ ตามแผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้ในปี 2566-2570 มีการกำหนดงบรายจ่ายประจำปี 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท โดยมีการกำหนดสัดส่วนใช้จ่ายงบประจำ งบลงทุนไว้หมดแล้ว

นายพรชัยระบุว่าเท่าที่ติดตามข่าวนโยบายพรรคการเมือง มีหลายโครงการใช้งบประมาณอยู่หลายแสนล้านบาท ค่อนข้างจะเกินจากรายจ่ายที่กำหนดเอาไว้ ดังนั้นจะต้องดูว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่ เมื่อมีการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรจะต้องดูว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด ต้องมีการปรับแผนการคลังหรือไม่

สำหรับแผนการคลังระยะปานกลางที่ใช้อยู่ในปี 2566-2570 มีหลักการที่สำคัญ คือต้องการลดการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพี ซึ่งปี 2567 ตั้งไว้กู้ชดเชยการขาดดุลที่ 3% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ที่มีภาระด้านการคลังเหมือนไทยหลังสถานการณ์โควิด และหลังจากปี 2567 จะทยอยลดลงต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นกติกาที่มีไว้ให้เกิดวินัยการคลัง ควบคุมการใช้จ่าย ลดภาระรัฐบาล สองเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการคลังในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย การจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อให้มีการบริหารพื้นที่ทางการคลังให้เหมาะสม และมุ่งสู่ภาคการคลั่งที่ยั่งยืน และมีศักยภาพในการรับความเสี่ยงของประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการมุ่งทำงบประมาณสมดุลในอนาคต ตามแผนการคลังระยะปานกลาง

ในส่วนของสัดส่วนหนี้สาธารณ์ต่อจีดีพี ซึ่งมีเพดานอยู่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะกู้ได้ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมและจำเป็น เช่น ในช่วงโควิด มีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในสถานการณ์โควิด 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาเยียวยาผลกระทบ การเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งงบที่ออกมาจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ซื้อวัคซีน ทำโครงการจ้างงาน ให้ประชาชนมีรายได้ประทังชีวิตในช่วงที่เกิดโควิด

“การกู้เงินต่าง ๆ จะต้องดูในเรื่องของผลกลับคืนมาให้กับประเทศ ซึ่งความเห็นในด้านวินัยการคลัง มองว่าถ้ากู้มาแล้วก็ควรจะนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนกลับมาสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง รวมถึงสาธารณูปโภค พัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ถ้ากู้มาแล้ว ควรจะมีผลิตภาพที่มากขึ้น วงเงินกู้ที่มีก็ไม่จำเป็นที่จะใช้เต็มวงเงินก็ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นภาระลูกหลานของเราที่ต้องมาหารายได้ชำระคืนเงินกู้ ก็ต้องไปดูวิธีการและโครงการที่จะนำเงินมาใช้จริง”