โดนเทเยอะ !  เดือน พ.ย. ต่างชาติขายสุทธิ หุ้นไทย เป็นเดือนที่ 10 ขาย 21,132 ล้านบาท

183
0
Share:

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ หุ้นไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 ว่า มีปัจจัยเกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดย ผลการประชุม ธนาคารกลางสหรัฐ ( FED )มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 อยู่ที่ระดับ 5.00%-5.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ยังส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 แต่เริ่มเห็นผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนคาดว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนธันวาคม และคาดว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ อ่อนตัวลงและเห็นเงินทุนไหลเข้าในสินทรัพย์เสี่ยง

ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก อีกทั้งประเมินเศรษฐกิจขยายตัว 2.4% และ 3.8% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ของไทยถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แสดงถึงนโยบายการเงินของไทยในปัจจุบันที่ค่อนข้างตึงตัว อีกทั้งประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอีก 12 เดือนข้างหน้าถูกนักวิเคราะห์ปรับลดลงต่อเนื่องจากต้นปีนี้ ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังไม่ดึงดูดใจผู้ลงทุน 

ทั้งนี้ ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 SET Index ปิดที่ 1,380.18 จุด ปรับลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ปรับลดลง 17.3% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 45,804 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 28.9%

ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 11 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 54,399 ล้านบาท    ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่สิบ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 21,132  ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19

Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 16.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.0 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า

ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.25% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.43%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 455,273 สัญญา ลดลง 11.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 536,386 สัญญา ลดลง 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures 

หุ้นไทยปีหน้ามีหลายเรื่องที่ดีและมีความเสียง  โดยเรื่องที่ดีคือ ปีหน้า งบ ภาครัฐ ปี67 จะเข้ามา เดือน พ.. จากปีนี้ล่าช้า และต้องดูนักท่องเที่ยวจะกลับมาตามเป้าหมายหรือไม่ รวมทั้งต้องดูเงินเฟ้อ หากไม่พุ่งขึ้นก็เป็นเรื่องดี  ในขณะที่ความเสี่ยง ก็ต้องดูดอกเบี้ยสหรัฐจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นอย่างไร เรื่องราคาน้ำมันหากไม่ขึ้นก็เป็นเรื่องดี ภาพใหญ่ ก็เป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจและดีต่อหุ้นภาพรวมนายศรพลกล่าว

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่า หุ้นไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตลาดโลก กระทบต่อไทย แรงมาก แต่หากมาดูว่า ปัจจัยเหล่านี้ คลี่คลายมากขึ้น และ นโยบายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ  ประกอบกับความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์  ในขณะที่หนี้สาธารณะของไทยก็ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่กระทบจากโควิด-19  โดยหากเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ดี มีการจ้างงาน เพิ่มขึ้น บจ.มีผลประกอบการที่ดี่ หุ้นไทยซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นด้วย ในขณะนี้ก็คงต้องรอดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างไร ในขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามภาวะตลาด และปรับหลักเกณฑ์ต่างๆให้เหมาะสม