โบรกฯ วิเคราะห์นโยบายหาเสียงรัฐบาลใหม่ ลุ้นผลเลือกตั้ง “แลนด์สไลด์” หนุนตลาดหุ้นไทย

212
0
Share:
โบรกฯ วิเคราะห์นโยบายหาเสียงรัฐบาลใหม่ ลุ้นผล เลือกตั้ง “แลนด์สไลด์” หนุน ตลาดหุ้นไทย

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ตามสถิติช่วงการเลือกตั้ง ถ้าซื้อก่อนเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ และไปขาย 1 สัปดาห์หลังเลือกตั้งจะได้รีเทิร์น 3.81% (กรณีออกมาเป็นพรรคร่วม) แต่ถ้าผลหลังเลือกตั้งที่ออกมาเกิด “แลนด์สไลด์” พรรคใดพรรคหนึ่งได้รันนโยบายอย่างเต็มที่ จะเป็นบวกกับตลาดทุนมากกว่า ทำให้โอกาสเห็นรีเทิร์นได้มากกว่าสถิติเดิม

โดยภาพนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายหลักๆ ประกอบด้วย การใช้เงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700-1,000 บาท การอัดเงินเข้า e-Wallet 10,000 บาท การลดภาระคล้ายๆ ปรับโครงสร้างหนี้-ปรับระบบเครดิตบูโร และ นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ซึ่งกรณีอัดเงินเข้า e-Wallet มูลค่า 10,000 บาท ให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ประมาณกว่า 50 ล้านคน รวมๆ ต้องใช้งบประมาณ 5.4 แสนล้านบาท หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือค้าปลีก สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหาร และท่องเที่ยว แต่หุ้นกลุ่มเสียประโยชน์คือ รับเหมาก่อสร้าง เกษตร อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

หากกรณีการใช้เงินผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ 700-1,000 บาทต่อเดือน จะใช้เงินราว 4.37 แสนล้านบาท แยกเป็นวงเงินในการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน จำนวนงบประมาณ 180,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมประชากร 21.45 ล้านคน และเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000 บาทต่อเดือน จำนวนงบประมาณ 257,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมประชากร 21.45 ล้านคน โดยหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือค้าปลีก สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหาร และเช่าซื้อ

คาดว่าเงินที่รัฐบาลใหม่จะนำมาใช้ได้ มีด้วยกัน 2 ทางคือ 1.บรรจุในงบประมาณ และ 2.กู้เงินเพิ่ม โดยงบประมาณปี 2567 มีอยู่ประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท สามารถหยิบเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินที่มีสัดส่วน 15% หรือราว 9.3 หมื่นล้านบาทมาใช้ได้ และสามารถกู้เงินได้อีก 1.56 ล้านล้านบาท ตามรูมของเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% จากสิ้นเดือน ก.พ. 2566 ที่อยู่ที่ 61.13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพียงพอ แต่ไม่ควรกู้เงินมากขนาดนั้น เพราะถ้าไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบได้ จะทำให้เป็นภาระต่อฐานะการคลังที่หนักหนาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/2566 ยังผันผวน เพราะติดอยู่กับความกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น, ปัญหาระบบสถาบันการเงินและความเสี่ยงเศรษฐกิจเข้าสู่ Recession โดยวงจรความกังวลมีจุดเริ่มต้นมาจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงิน ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2566 เริ่มเห็นผลกระทบมายังภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯ (SVB) และยุโรป (Credit Suisse) เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องก่อนที่ FED และ SNB จะเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยบล.เอเซีย พลัส ได้ปรับลดเป้าดัชนี SET ปี 2566 ลงเหลือ 1,610-1,670 จุด จากเดิม 1,740 จุด หลังจากที่ยังมีความเสี่ยงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกอยู่มาก