โลกเตรียมรับมือราคาน้ำมันดิบปีหน้าแพงจัดใกล้ 100 ดอลลาร์ ไตรมาส 4 ยืนเหนือ 92 ดอลลาร์

264
0
Share:
โลกเตรียมรับมือราคา น้ำมันดิบ ปีหน้าแพงจัดใกล้ 100 ดอลลาร์ ไตรมาส 4 ยืนเหนือ 92 ดอลลาร์

ธนาคารบาร์เคลย์ส เป็นธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกจากสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ได้ปรับขึ้นราคาคาดการณ์น้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ของปี 2024 อีก 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ในปีหน้า ราคาน้ำมันดิบดังกล่าวขึ้นมาอยู่ที่ 97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม 2024 ธนาคารบาร์เคลย์สได้แนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ระหว่างราคา 90-95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ในขณะที่ ปรับลดราคาคาดการณ์น้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ของปีนี้ลงมาอยู่ที่บาร์เรลละ 84 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากราคาคาดการณ์เดิมที่ 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาคาดการณ์น้ำมันดิบดังกล่าวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ยังคงอยู่ที่เดิม คือ 92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ธนาคารบาร์เคลย์ส เปิดเผยเหตุผลในการปรับขึ้นราคาคาดการณ์ดังกล่าวว่า เป็นผลมาจาก แนวโน้มสูงมากที่ตลาดน้ำมันดิบโลกจะเกิดภาวะตึงตัวในปี 2024 ถึงวันละ 250,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกพลัสขยายตัวน้อยมาก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มที่สมาชิกในกลุ่มโอเปกพลัสจะผลิตน้ำมันดิบต่ำกว่าโควต้าที่กำหนดไว้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ผ่านมา ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ทั้งใน 2 ไตรมาสของครึ่งปีหลังนี้ สำหรับไตรมาสที่ 3 ได้ปรับราคาขึ้นจากเดิมระดับบาร์เรลละ 75 ดอลลาร์สหรัฐมาเป็น 85 ดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสที่ 4 ได้ปรับราคาขึ้นจากเดิมระดับบาร์เรลละ 70 ดอลลาร์สหรัฐมาเป็น 82.5 ดอลลาร์สหรัฐ

สาเหตุจากภาวะตลาดน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัวเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือไปถึงสิ้นปีนี้ ในขณะที่ภาวะตึงตัวดังกล่าวจะเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำมันเหลือเกินความต้องการบริโภคเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2024

สำหรับในระยะยาวนั้น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยปริมาณสำรองน้ำมันดิบตลาดโลกที่อยู่สูงในรอบ 20 ปี และส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงของกลุ่มโอเปกในตลาดน้ำมันดิบโลก ท่ามกลางกลุ่มโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของทั้งกลุ่มในช่วงที่เหลือของปีนี้ นำโดยซาอุดีอาระเบียที่ลดกำลังการผลิตลงถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรลไปถึงเดือนกันยายนนี้ และยังส่งสัญญาณว่าอาจดำเนินมาตรการลดการผลิตต่อเนื่อง รวมถึงการลดปริมาณการผลิตต่อวันลงมากกว่าในปัจจุบันด้วย