ใกล้ยึดเมืองไทย! โควิด-19 พันธุ์เดลต้าระบาดพุ่งเป็น 91% ทั่วไทย เหลือจังหวัดเดียวเท่านั้น

412
0
Share:

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเกี่ยวกับการจำแนกสายพันธุ์ไวรัสโควิด 19 ที่เฝ้าระวังในประเทศไทย โดยจากการเก็บตัวอย่าง ทั่วประเทศกว่า 1,632 ตัวอย่าง ตรวจพบว่า สายพันธุ์เดลต้า หรืออินเดียมีประมาณ 1,500 ตัวหย่าง ที่เหลือ 100 กว่าราย เป็นสายพันธุ์อัลฟา สายพันธุ์เบตา 4 ราย ซึ่งพบในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนมาก ดังนั้น ภาพรวมของการระบาดสายพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยวันนี้ พบมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสูงถึง 91.9% และสายพันธุ์เดลต้าจะเบียดแซงสายพันธุ์อื่นๆ กลายเป็นสายพันธุ์เดลต้าทั้ง 100% ในประเทศไทย
.
ถ้าเจาะลึกจะเห็นว่า สายพันธุ์เดลต้า เพิ่มจำนวนการระบาดค่อนข้างเร็ว ณ วันนี้ 10 สิงหาคม 2564 พบสายพันธุ์เดลต้าระบาดใน 76 จังหวัดแล้ว ยกเว้นเพียงจังหวัดเดียว คือ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้แต่อาจจะยังตรวจไม่เจอต่างหาก

สำหรับสายพันธุ์เบตา หรือเซาท์แอฟริกานั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มเพียง 4 ราย คือ ภูเก็ต 3 ราย พัทลุง 1 ราย ภาพรวม 70 % ยังอยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่เป็นแหล่งกำเนิด จากที่มีคนข้ามมาจากฝั่งมาเลเซีย โชคดีที่สายพันธุ์เบตาไม่มีการแพร่เชื้อได้รวดเร็ว จึงจำกัดวงอยู่ที่ภาคใต้เท่านั้น ก่อนหน้านี้เคยพบที่ จ.บึงกาฬ 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกันประมาณ 5 คน แต่ขณะนี้ยุติไปแล้ว กรณีเบตา จึงไม่น่าจะเป็นปัญหานอกพื้นที่ เพราะพบอยู่ในวงของพื้นที่ ภาคใต้

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า การตรวจหาภูมิคุ้มกัน Antibody หลังฉีดวัคซีน แล้วเอามาโพสต์ในสื่อโซเชียล โดยขอย้ำว่า ภูมิคุ้มกันนั้นไม่ได้เป็นตัวยืนยันว่าจะสามารถคุ้มกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใดได้ และไม่มีความคุ้มค่าในการตรวจ เพราะการขึ้นของภูมิคุ้มกันแสดงในภาพรวม ที่สำคัญห้อง lab แต่ละแห่ง มีค่าของตัวเลขแตกต่างกันไป เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ที่สำคัญองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้กำหนดว่าภูมิคุ้มกันเท่านี้จะป้องกันสายพันธุ์ใดได้เท่าไหร่

ดังนั้น คำถามสำคัญที่หากประชาชนจะไปตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน คือ ให้ถามผู้ตรวจว่าการตรวจนี้คือ neutralizing antibody หรือเป็นภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องกำจัดเชื้อโรคหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันโดยทั่วไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร