ให้ 2 คำเป๊ะ! นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ชี้ชัดๆ “แย่” ถึง “เอาไม่อยู่”

616
0
Share:
น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทรวงอก ได้ออกแถลงการณ์ว่า วิกฤตสุขภาพจากโควิด-19 โดยชี้ให้เห็นว่า ศักยภาพของการแพทย์ที่ขยายเพิ่มเพื่อไปรองรับทั้งในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ และโรงพยาบาลสนาม กำลังจะหมดลงในเวลาอันสั้น การเร่งขยายศักยภาพเพิ่มเติมบนภาระที่หนักเกินตัวของบุคลากรการแพทย์ เท่ากับเร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบดูแลผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงการฟื้นฟูในระยะยาวและการเตรียมการฟื้นฟูประเทศ ด้วยเหตุนี้จีงเรียกร้องทั้ง 3 ฝ่ายดังนี้
.
ฝ่ายรัฐบาล ต้องมีความเด็ดขาดในการระงับการเคลื่อนย้ายประชาชนให้มากที่สุด และให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการลดการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ต้องให้น้ำหนักกับข้อมูลและข้อเสนอจากภาคการแพทย์ มากกว่าภาคการเมืองที่ไม่สามารถบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฝ่ายประชาชน ต้องปฏิบัติตามแนวมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของแพทย์
.
ฝ่ายการแพทย์ วางระบบการใช้ศักยภาพในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดขั้นตอนทำให้ผู้ป่วยตกค้างอยู่ในโรงพยาบาล และในชุมชนโดยไม่จำเป็น อดทนและอดกลั้นต่อความคาดหวังของสังคม ต่อนโยยาของรัฐบาลที่ไม่ทันการ และต่อคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ของภาคการเมือง
น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทรวงอก เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของประเทศไทยในขณะนี้ “แย่” ตามที่คาด และถึงขั้น “เอาไม่อยู่” สาเหตุจากมีการพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระจายในหลายจุด
.
นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ พบเห็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกันได้นำเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากภายนอกบ้านเข้ามาแพร่กระจายในบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุให้คนในครอบครัวเดียวกันติดเชื้อพร้อมกันหลายคน นั่นก็หมายความว่า โรงพยาบาลต่างๆในปัจจุบันตกอยู่ในสภาพล้นทะลักจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในทุกๆวัน
.
หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล กล่าวว่าจากการที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่รวมกันมากกว่า 12,000 ราย และแนวโน้มชัดเจนว่า จะมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอีกใน 2 สัปดาห์หน้า จึงควรจะจัดการให้มีผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 รายใหม่ไม่เกิน 10,000 คน ทั้งนี้ก็เพื่อให้โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ และโรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกประเภทได้มีประสิทธิภาพ ในความคิดเห็นส่วนตัว มองว่าควรจะมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อประมาณ 25,000 เตียง แต่เมื่อถึงสัปดาห์ที่ผ่านไป ปรากฎว่าเตียงถูกใช้ไปแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
.
สิ่งที่น่ากังวลต่อไป และไม่อยากให้เกิดขึ้น คือการแบ่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งต้องดูแลคนไข้โรคอื่นๆ มาดูแลผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาขาดคุณภาพ ลองนึกภาพตามว่า เมื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ได้ดีทั้งผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 และผู้ป่วยโรคอื่นๆ อาจทำให้ได้เห็นผู้เสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด-19 อย่างที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในต่างประเทศ