ไทยพาณิชย์ชี้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3 มองเงินบาทสิ้นปีไม่แตะ 35 บาท

352
0
Share:
แบงก์ชาติ

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3/65 จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) ของครัวเรือนปรับมาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนพ.ค. 65 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ในปัจจุบันยังติดลบและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากไทยและเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ การลดระดับการผ่อนคลายสูงของนโยบายการเงิน (ultra-easy monetary policy) จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางและมีแผลเป็นจากวิกฤติโควิด ทั้งการว่างงาน รายได้ที่ฟื้นตัวช้า และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงราว 3.6% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าในทิศทางเดียวกันและใกล้เคียงกับสกุลอื่นในภูมิภาค

EIC มองว่า ในระยะสั้นค่าเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงของภาวะสงคราม ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯอย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2565 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับดีขึ้นตามดุลภาคบริการ

โดย ณ สิ้นปี 65 คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ในภาพรวม EIC ประเมินว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการเพิ่มมากขึ้นแทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงต้านจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็ว

โดยจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ โดยระดับ GDP รายปีจะยังไม่กลับไปเท่าระดับของปี 2562 จนกระทั่งไตรมาสที่ 3/66 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป ได้แก่

1. ภาวะสงครามที่ยังยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงาน และโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง2. การชะงักงันของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่งจากนโยบาย Zero Covid ในจีนที่อาจส่งผลให้มีการล็อกดาวน์เพิ่มเติม 3. การแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน (supply chain decoupling/fragmentation) เป็นสองขั้วเศรษฐกิจจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะลดประสิทธิภาพและเพิ่มต้นทุนด้านการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต 4. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในวงกว้าง 5. มาตรการช่วยเหลือ และสนับสนุนจากภาครัฐที่ทยอยลดลงทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพโดยเฉพาะด้านพลังงาน