ไทยพาณิชย์หั่นเศรษฐกิจไทยปีเสือหลุด 3% เตือนเงินเฟ้อทะลุสูง 14 ปี

481
0
Share:

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 เป็น 2.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.2%

สาเหตุจากปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่ระดับ 4.9% ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ทันค่าครองชีพ

สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้น ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 5.9 ล้านคน

ด้านตลาดแรงงาน การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร และแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น

ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและปัญหาแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ธุรกิจโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างและโรงแรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ประสบปัญหาการหาแรงงานและมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของธุรกิจ เอสเอ็มอี ให้เปราะบางมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าว จะทำให้ค่าจ้างจากการทำงานจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่รายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงานโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปรับลดลงกว่า 10%

ศูนย์ EIC ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3% ในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ตลอดปีนี้ สาเหตุจาก กนง. จะยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางมากกว่าเป้าหมายอื่น

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่และมีแนวโน้มปรับลดลงในปีหน้า และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี จนอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้นมากจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

สำหรับค่าเงินบาทจะผันผวนในทิศทางอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลกระทบของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยมาอยู่ในระดับ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับตัวดีขึ้นตามภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น