ไทยรั้งท้ายสุดทุกสถิติอสังหาในอาเซียน ความเชื่อมั่น-ความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยคนไทยตก

68
0
Share:
ไทย รั้งท้ายสุดทุกสถิติ อสังหาริมทรัพย์ ในอาเซียน ความเชื่อมั่น-ความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยคนไทยตก

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ หรือ DDproperty ซึ่งเป็นธุรกิจบริการแพลตฟอร์มซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่งในไทย เปิดเผยแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม พบว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในแต่ละ 4 ประเทศของอาเซียนลดหลั่นลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจ อันดับ 1 ชาวสิงคโปร์ 73% มีการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัย อันดับ 2 ชาวมาเลเซีย 70% อันดับ 4 ชาวเวียดนาม 65% และอันดับสุดท้ายชาวไทยมีเพียง 44% ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน อันเป็นผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 10 ปี จึงทำให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวไทยชะลอตัวตามไปด้วย

ด้านความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย พบว่า อันดับ 1 เวียดนามเติบโตสูงที่สุดอยู่ที่ 72% ปัจจัยบวกมาจากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อันดับ 2 ชาวไทยอยู่ที่ 59% จากข้อมูลในครั้งนี้ พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์ ความพึงพอใจในสภาพตลาดที่อยู่อาศัย และความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยปรับลดลงทั้งหมด ส่วนชาวสิงคโปร์และชาวมาเลเซียมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยเท่ากันที่ 46%

ขณะเดียวกัน ชาวเวียดนาม 53% มองว่าภาครัฐมีความพยายามเพียงพอที่จะช่วยให้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ ตามมาด้วยชาวสิงคโปรที่ 35% อันดับต่อมาชาวมาเลเซียที่ 19% และสุดท้ายคือชาวไทยที่ 13% ที่สำคัญ ไทยทำสถิติต่ำที่สุดในอาเซียน เนื่องจากในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้ ภาครัฐยังไม่มีนโยบายกระตุ้นการเติบโตของตลาดอสังหาฯ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ โดยผู้บริโภคชาวอาเซียนส่วนใหญ่ ต่างมองว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง มีชาวเวียดนาม 28% เท่านั้นที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดในอาเซียน ขณะที่ชาวสิงคโปร์และชาวไทยมีสัดส่วนเท่ากันที่ 16% ส่วนชาวมาเลเซียอยู่ที่ 15% เท่านั้น

สะท้อนให้เห็นว่าแม้การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดอสังหาฯ แต่หากมีมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ มาสมทบ จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ให้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น

สำหรับเหตุผลที่ชาวไทยส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมาจากความต้องการของตนเองเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากชาวมาเลเซียและชาวเวียดนามที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนมากกว่า โดยชาวไทย 44% ตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด รองลงมาคือเลือกซื้อเพื่อลงทุน 29%

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 (33%) ของผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะซื้อแล้ว ขณะที่เกือบครึ่ง (47%) เก็บเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น นอกจากนี้ ความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภคระดับกลางและล่างที่จำเป็นต้องขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยมากกว่าครึ่ง หรือ 56% เปิดเผยว่าอุปสรรคหลักในการขอสินเชื่อบ้านมาจากรายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคง ตามมาด้วยมีประวัติทางการเงินที่ไม่ดี 38% และมีเงินดาวน์ไม่พอ 31%

ขณะที่กว่า 3 ใน 5 (61%) ของผู้บริโภคชาวไทยที่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยเผยว่ายังไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะซื้อ และ 38% มองว่าที่อยู่อาศัยมีราคาแพงเกินไปจึงเลือกเก็บออมเงินไว้ก่อน อย่างไรก็ดี ผู้เช่าส่วนใหญ่ 31% เผยว่าได้วางแผนเช่าที่อยู่อาศัยไว้ 2 ปี ก่อนจะซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เป็นของตัวเองในภายหลัง เนื่องจากยังต้องจับตามองแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด