ไทยลงนามในยูเอ็น ประณามการรุกรานยูเครนจากรัสเซีย โดยมีมติคัดค้านกว่า 141 ประเทศ

333
0
Share:
ยูเอ็น

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (UN) ได้หารือถึงประเด็นสถานการณ์ยูเครน จากการรุกรานของรัสเซีย โดยประชุมทั้งหมด 193 ประเทศ มีมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 141 ประเทศ ได้แสดงพลังต่อต้านสงคราม โดยเห็นควรว่ารัสเซียต้องทำการหยุดยิงและถอนกองกำลังทั้งหมดออกจากยูเครนทันที ซึ่งประเทศไทย เป็น 1 ใน 141 ประเทศที่ยกมือโหวตครั้งนี้ด้วย

นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว ของนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ระบุว่า

ท่านประธาน, ท่านเลขาธิการ

1. ประเทศไทยกังวลอย่างมาก ต่อการสู้รบและความรุนแรงที่เลวร้ายลง อันเป็นผลจากการใช้กำลังทหารในยูเครน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียชีวิตรวมทั้งพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และการทำลายทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน

2. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนได้ออกถ้อยแถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2022 ตั้งแต่นั้นมา การสู้รบยังดำเนินต่อไปและผู้เสียชีวิตรวมถึงพลเรือนยังคงเพิ่มขึ้น

3.สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัยและผู้หนีการสู้รบเป็นสิ่งที่ต้องกังวลเป็นพิเศษ ไทยยกย่องประเทศเพื่อนบ้านยูเครนและรัฐอื่น ๆ ที่ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะที่ต้องการด้านมนุษยธรรมเร่งด่วน ในส่วนของเรา ประเทศไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ในการตอบสนองความต้องการเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีความเห็นร่วมกัน

4. ถ้อยแถลงไทยในยูเอ็น ไทยยึดถือหลักการที่กำหนดในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอธิปไตย อาณาเขต ความสมบูรณ์และความเป็นอิสระทางการเมืองของรัฐ และการละเว้นจากการใช้กำลังบังคับหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังกับอีกรัฐหนึ่ง เราจึงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการสู้รบทางอาวุธ สถานการณ์ในยูเครน ทันที ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของสถานการณ์จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของเศรษฐกิจโลก ขัดขวางการฟื้นตัวที่เปราะบางจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยจึงขอเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาทางยุติปัญหาอย่างสันติและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนผ่านสหประชาชาติ กลไกระดับภูมิภาคและรูปแบบอื่นๆ ที่ยอมรับร่วมกันได้ ในการนี้ เรายินดีกับความพยายามล่าสุดในการเจรจาทวิภาคีระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และตั้งหน้ารอผลสำเร็จของการเจรจาดังกล่าว

6.ในฐานะประเทศรักสงบ ประเทศไทยมีศรัทธามั่นคงในไมตรีจิตระหว่างชนชาติต่างๆ และความเมตตาของมนุษยชาติ ดังนั้นเราจะดำเนินการต่อเพื่อหวังว่าหนทางแห่งสันติ ความสมานฉันท์ และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีจะสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุด

7. ขอขอบคุณ

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้พบว่ามีประเทศที่ออกเสียงไม่เห็นด้วยต่อการประณามสงครามรัสเซีย-ยูเครน 5 ประเทศ ประกอบไปด้วยรัสเซีย เบลารุส คิวบา เกาหลีเหนือ และซีเรีย โดยมี 35 ประเทศที่งดออกเสียง