ไทยสุดเหลื่อม! เศรษฐกิจไทยยุคนี้เหลื่อมล้ำขึ้น เกษตรกรเหลือรายได้แค่วันละ 95 บาท

162
0
Share:
ไทยสุดเหลื่อม! เศรษฐกิจไทย ยุคนี้ เหลื่อมล้ำ ขึ้น เกษตรกร เหลือ รายได้ แค่วันละ 95 บาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายสิบปีผ่านมาที่เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องตามวงจรเศรษฐกิจ แต่การกระจายรายได้กลับกลายเป็นประเด็นสำคัญ โดยพบว่าในช่วง 13 ปีผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมที่ระดับ 7.7 ล้านล้านบาทในปี 2008 ขึ้นมาเป็น 10.2 ล้านล้านบาทในปี 2021 แต่กลับพบว่าความเหลื่อมทางเศรษฐกิจไทยยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

จากสถิติที่ผ่านมา ในปี 1988 หรือเมื่อ 35 ปีผ่านมา ประชากรในไทยที่มีความยากจนข้นแค้นมีสัดส่วนมากถึง 65% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ได้ลดลงมาเหลือที่ระดับ 6.3% ในปี 2021 แต่สิ่งที่น่าตกใจกับภาวะเศรษฐกิจไทยเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้นกลับอยู่ที่ในช่วงระยะ 10 ปีให้หลัง หรือระหว่างปี 2011 ถึง 2021 กลับไม่มีสัดส่วนประชากรยากจนข้นแค้นลดลงอย่างมากแต่อย่างใด ที่น่าประหลาดใจ คือ 11% ของครัวเรือนทั่วประเทศไทยที่มีรายได้จากภาคการเกษตร กลับต้องต้องตกอยู่ในกลุ่มประชากรยากจนข้นแค้น หรืออยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งมีรายได้เพียงคนละ 2,802 บาทต่อเดือน

เส้นความยากจนซึ่งแสดงถึงประชากรไทยที่มีรายได้เพียงคนละ 2,802 บาทต่อเดือน คิดเป็นไม่ถึง 1 ใน 3 หรือไม่ถึง 93-94 บาทของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ระดับ 300 บาทในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่จ่ายให้แรงงานในปัจจุบัน

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยต่อไปว่า เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ดังกล่าวของประเทศไทยกับประเทศในเอเชีย จะพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีการสร้างความสมดุลย์ในการกระจายรายได้ประชากร และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับต่ำมาก ซึ่งตรงกันข้ามอย่างมากกับไทย