ไทยเจอะครั้งแรกยอดเด็กแรกเกิดต่ำกว่ายอดคนเสียชีวิต คนจะเสียชีวิตโดดเดี่ยวพุ่งขึ้น

925
0
Share:
เด็ก

รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงอัตราเกิดหรือจำนวนเด็กแรกเกิดของประเทศไทยลดลงเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี แล้ว หรือนับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2506-2526 ซึ่งในช่วงนั้นเรียกว่ายุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงมาต่อเนื่องจนกระทั่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป ซึ่งถือเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ของไทย
.
รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ กล่าวต่อไปว่าในปี 2554 ไทยมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 850,000 คน เมื่อ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 550,000 คน นั่นหมายความว่า ตัวเลขการเกิดในไทยลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีไม่ถึง 70 ล้านคน จะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียว คือไม่เกิน 35 ล้านคน หรือคนไทยเราจะหายไปถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่มีคนสูงอายุที่จะทยอยเสียชีวิตตามอายุขัยภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศก็อยู่ในภาวการณ์เช่นเดียวกัน
.
สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบระยะสั้น ได้แก่
.
1. คนจะลดลง ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย จำนวนประชากรจึงลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่เตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นจะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า
.
2. ครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น และความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น
.
3. สังคมจะเปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลง โดยหากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน แตกต่างจากสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง
.
เมื่อมองผลกระทบระยะยาว แน่ชัดว่าจะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ และปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
.
ทั้งนี้ รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้า เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี การสนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร การให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน