ไทยเผชิญ 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ทางออกต้องยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่

351
0
Share:

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 3.3% จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การขยายตัวของการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวที่กลับมามากกว่าที่คาด และรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของ KKP Research มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังพบความเสี่ยงของเศรษฐกิจระยะสั้นใน 4 ประเด็น ได้แก่ เงินเฟ้อ โดย KKP Research มองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบคืออัตราส่วนกำไรที่ลดลง เพราะส่งผ่านต้นทุนให้กับผู้บริโภคไม่ได้

อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากต้องการลดผลกระทบของเงินเฟ้อ ถัดมาเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอาจเข้าสู่สภาวะชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกาที่เจอปัญหาเงินเฟ้อ จีนเจอปัญหาเศรษฐกิจจากผลของการล็อกดาวน์ ยุโรปเจอปัญหาพลังงาน ญี่ปุ่นก็ยังฟื้นไม่ดี ถ้าหาก 4 ประเทศเจอปัญหา ไทยอาจส่งออกไม่ได้ และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลทำให้ราคาพลังงานหรือปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research มองต่อไปว่า เรื่องปัญหาระยะยาว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงและมีความเสี่ยงที่จะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อม เช่น พัฒนาด้านเทคโนโลยี กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ทางออกสำคัญของเศรษฐกิจไทยในโลกยุคใหม่หลังจากนี้คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การยกระดับคุณภาพการศึกษาและทักษะแรงงาน การเปิดเสรีแรงงานและบริการ การลดการผูกขาด ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพสถาบันเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส