ไทยเสี่ยงน้อยจะเกิดภาวะเงินฝืดบนยุคข้าวของแพง มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

417
0
Share:

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือสนค. เปิดเผยว่า กรณีที่มีความกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หรือภาวะ stagflation นั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืดแล้ว พบว่า โอกาสที่จะเกิดในไทยน้อยมาก แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปัจจุบันสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงและอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มมีสัญญาณอ่อนตัวลง เพราะคาดว่า อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้ในเร็วๆ นี้ หากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกได้ข้อสรุป ส่งผลให้ความตึงตัวด้านปริมาณการผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกน้อยลง

ด้านความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายได้ และไม่น่ายืดเยื้อ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีความพยายามเจรจาสันติภาพบ่อยครั้ง เนื่องจากตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดกับประชาชนและเศรษฐกิจ ซึ่งเกินกว่าที่คาดไว้ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ยังส่งผลให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นขณะเดียวกัน

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือสนค. กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่ในไทย รัฐบาลใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมัน และกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลราคาสินค้าให้เหมาะสม ทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าไม่สูงเกินไป และส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะต่อไป ราคาน้ำมันจะมีอิทธิพลต่อเงินเฟ้อน้อยลง ตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และความตึงตัวด้านอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย

ในด้านอัตราการว่างงานปี 2565 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2574 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่มีความรุนแรงน้อยลง และรัฐบาลประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในช่วงกลางปีนี้

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือสนค. ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% จากปี 64 ที่ขยายตัว 1.6% จากผลของนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐ ทั้งการขับเคลื่อนการใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออก และการส่งเสริมการลงทุน ควบคู่กับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากไตรมาสที่ 4 ปี 64 อยู่ที่ 1.64% ลดลงจาก 2.25% ในไตรมาส ก่อนหน้า และเฉลี่ยทั้งปี 64 อยู่ที่ 1.93% ถือว่าไม่สูงมากนัก