ไทย – จีน ลงนามสัญญา 2.3 รถไฟความเร็วสูงวงเงิน 50,633 ล้านบาท

747
0
Share:

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือฯ นี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค
.
สำหรับเส้นทางนี้เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
.
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สำหรับ โครงการนี้ เป็นอีกโครงการสำคัญ ที่รฟท.ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงการตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือ สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก โดยมีความคืบหน้า 42%
.
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการลงนามเตรียมลงนามสัญญาก่อสร้างอีก 9 สัญญา และขั้นตอนการประกาศผลการประกวดราคา 2 สัญญา และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาอีก 1 สัญญา ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 253 กิโลเมตร และสถานีรถไฟความเร็วสูง 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา
.
สำหรับในวันนี้ลงนามในสัญญา 2.3 เพื่อดำเนินงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง วงเงิน 50,633 ล้านบาท เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้รับความรู้และเทคโนโลยีระบบรางจากจีน
.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เมื่อแล้วเสร็จปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคง ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี