ไม่จ่ายเงินเดือน! ชาวเมียนมาตกระกำลำบาก วันนี้สิ้นเดือนเจ้าของกิจการไม่จ่ายเงินเดือน ผลพวงวิกฤตรัฐประหาร

690
0
Share:
สถานการณ์ในประเทศเมียนมาท่ามกลางการทำรัฐประหารของกองทัพทหารมาเป็นเวลา 26 วัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง และความเสียหายมากขึ้นต่อเนื่องที่มีต่อภาคเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจในประเทศเมียนมา เจ้าของธุรกิจและร้านค้ารวมถึงธุรกิจชาวต่างชาติ ประสบปัญหาทั้งรายได้ และสภาพคล่องถึงขั้นวิกฤตในขณะนี้
.
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า วันนี้ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นเดือน และเป็นวันจ่ายเงินเดือนครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เกิดการทำรัฐประหารในเมียนมา ปรากฏว่าผู้ประกอบการจำนวนมากเผชิญวิกฤตสภาพคล่อง หรือความสามารถในการหมุนเงินเพื่อจ่ายเงินเดือนและรายได้ให้พนักงาน ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศพบปัญหาไม่สามารถเคลียร์สินค้านำเข้าที่บริเวณด่านชายแดนและท่าเรือ ส่งผลให้ธุรกิจผักและผลไม้มีทั้งสูญหาย และเน่าเสียหายเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาดังกล่าวเกิดสั่งสมมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่มียอดขายสินค้าน้อยลงต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าที่สั่งนำเข้ามาก่อนหน้านี้ ต้องขายขาดทุนหนัก
.
ด้านตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าต พบว่าค่าเงินดังกล่าวผันผวนหนัก และอ่อนค่าอย่างรุนแรงนับตั้งแต่กองทัพทหารเมียนมาทำการยึดอำนาจ และทำรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ทำให้เจ้าของกิจการไม่สามารถชำระหนี้การค้า และค่าใช่จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับค่าสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ สาเหตุจากค่าเงินจ๊าตที่ร่วงอ่อนค่าอย่างมาก ทำให้เกิดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นทันที ดังนั้น ในขณะนี้ เจ้าของกิจการจึงต้องเปิดเจรจาขอยืดการจ่ายหนี้การค้าเป็นจำนวนมาก
.
โรงงานที่ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคจำนวนมากในเมียนมากำลังต้องจ่ายเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการส่งมอบสินค้าล่าช้า ซึ่งเกิดจากปัญหาการไม่สามารถเคลียร์สินค้านำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ด้านธนาคารหลายแห่งในเมียนมาไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติอย่างที่คสรจะเป็น ส่งผลต่อการจัดเตรียมเงินสดสำรองในตู้เอทีเอ็มหลายแห่ง ประชาชนเมียนมาไม่สามารถเบิกเงินสด ทำให้เกิดการขาดแคลนเงินสด
.
นอกจากนี้ ประเทศขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาหลายประเทศ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา และกองทัพทหาร มาตรการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากตัดสินใจทบทวนการทำธุรกิจในประเทศเมียนมา เช่น ประกาศยุติกิจการ หรือถอนการลงทุนกลับประเทศต้นทาง ซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนว่า ภายในไตรมาสที่ 1 จะมีบริษัทต่างชาติอีกหลายแห่งตัดสินใจถอนการลงทุนจากเมียนมา ก่อนหน้านี้ คิริน (Kirin) ยักษ์ผลิตเบียร์ชื่อดังจากญี่ปุ่น ประกาศยุติการลงทุนในธุรกิจร่วมลงทุนผลิตเบียร์ในเมียนมา