ไม่มีจำนำข้าว! พาณิชย์อัดวงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาท อุ้มสภาพคล่อง ดูแลราคาข้าว

589
0
Share:

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ว่า ได้แจ้งให้ชาวนาทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ไว้พร้อมแล้ว โดยจะใช้งบประมาณจำนวน 69,043 ล้านบาท ในการดูแลเสถียรภาพ ราคาข้าว เปลือกผ่าน 4 มาตรการหลัก

ประกอบด้วย 1.มาตรการการเก็บสต๊อก สำหรับเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วย 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี วงเงินรวม 10,120.71 ล้านบาท

2.มาตรการเก็บสต๊อก สำหรับผู้ประกอบการโรงสี ข้าวถุง และผู้ส่งออก เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยชดเชยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน วงเงินรวม 2,120 ล้านบาท 3.มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1% วงเงินรวม 481.25 ล้านบาทและ 4.ช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงินรวม 56,321.07 ล้านบาท

นายภูมิธรรมกล่าวว่าปีนี้อาจจะไม่มีมาตรการรับจำนำข้าวหรือมาตรการประกันรายได้แต่ก็มีโครงการช่วยเหลือดูแลเสถียรภาพราคาข้าว 14 ล้านตัน ที่กำลังทยอยออก โดยให้เกษตรกร สหกรณ์ และให้ผู้ประกอบการช่วยเก็บสต๊อก โดยรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือก ไม่ตกต่ำ โดยเตรียมงบประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท ไปดูแลราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ โดยจะเสนอกรอบวงเงินและมาตรการให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 และเร่งนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติต่อไป

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมครัวเรือนเกษตรกรชาวนามีประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 6.4 ล้านไร่ และจำนวนชาวนาทยอยน้อยลงเพราะลูกหลานชาวนาส่วนใหญ่ไม่สานต่อการเป็นเกษตรกร ระยะข้างหน้าชาวนาอาจจะน้อยลง