ไม่แพ้ชาติใด! คนไทยใช้โมบายล์แบงกิ้งแชมป์เบอร์ 1 โลก ใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าใน 5 ปี

194
0
Share:

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถา หัวข้อ ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินไทย 2024 ในงาน The Standard Economic Forum 2023 ว่า ภูมิทัศน์ทางการเงินจำเป็นต้องมีเพื่อจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไป โดยเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ธปท.ได้ออกเอกสารเรื่องภูมิทัศน์ทางการเงินที่พยายามการทำงานที่สำคัญที่ต้องมี 3 Open ภายใต้หลักการ 1.เปิดกว้างในการแข่งขันให้ผู้เล่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ (Open Competition) 2.เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรม (Open Infrastructure) และ 3.เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data)

นอกจากนี้ ธปท. ต้องการเห็นอีโคซิสเต็มทางด้านการเงินที่ทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่สร้างประโยชน์ อีกทั้งต้องสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรมควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องความเสี่ยง จึงต้องเน้นความยืดหยุ่นและการปรับตัวมากกว่าในเรื่องของเสถียรภาพ ในส่วนของ ธปท.ได้วางกรอบด้านการเงิน 3 มิติ ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นประกอบด้วย 1.เรื่องเพย์เมนต์ ที่พยายามจะลดต้นทุนให้มากขึ้น เพราะคนไทยยังมีการทำธุรกรรมการเงินด้วยเงินสด และการจัดเก็บธนบัตรมีต้นทุนสูงมาก ในระบบมีธนบัตรหมุนเวียน 2.1 ล้านล้านบาท ต้นทุนที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดการในแต่ละวันใช้ต้นทุนปีละ 5 หมื่นล้านบาท จำเป็นต้องลดต้นทุนจะต้องมุ่งไปที่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงคนไทยใช้การชำระเงินรูปแบบดิจิทัลเพย์เมนต์ ล่าสุดจำนวนลงทะเบียนพร้อมเพย์อยู่ที่ 76.3 ล้านไอดี (เฉลี่ย 56.4 ล้านธุรกรรมต่อวัน) ใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์เฉลี่ย 500 ครั้ง/คน/ปี เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา และทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะเดียวกัน ก็มีบางกลุ่มที่ใช้การใช้เงินสด

โดย ธปท.เรื่องที่ทำไปแล้วก็มีการเชื่อมคิวอาร์โค้ดกับ 6 ประเทศ มีมากที่สุดในโลกทำให้ชำระเงินได้ตลอดเวลาและค่าธรรมเนียมถูกลง นอกจากนี้ ในอนาคตเรื่องการใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) จะเพิ่มขึ้นและมีหลายทางเลือก อีกทั้งเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการให้มีคิวอาร์โค้ด รวมถึงเพิ่มการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคต่อไปนายเศรษฐพุฒิกล่าว

2.Transition Finance หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว ธปท.มีแนวปฏิบัติมาตรฐาน (standard practice) ให้ทุกสถาบันการเงินเริ่มปรับตัวในทิศทางเดียวกัน โดยได้ออกนโยบายผลักดันให้มีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวตามนิยามเดียวกัน (taxonomy) วัดกิจกรรมสีเขียวที่เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับบริบทไทยในด้านพลังงาน และขนส่งแล้ว เมื่อ ธปท.ทำเกณฑ์ออกมาแล้ว สิ่งที่ขาดคือการออกผลิตภัณฑ์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ/ครัวเรือนได้ดีขึ้น เช่น สินเชื่อเพื่อปรับกระบวนการใช้พลังงาน รวมถึงให้มี taxonomy ครอบคลุมเซกเตอร์อื่นๆ มากขึ้น เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นภาพกิจกรรมสีเขียวตรงกัน ซึ่งสามารถใช้อ้างอิงเพื่อกำหนดนโยบาย/เป้าหมายการปรับตัวได้ชัดเจนขึ้น และแบงก์จัดสรรเงินทุนได้ตรงจุดขึ้น

และ 3.Open Data for Consumer Empowerment โดยผู้บริโภคการกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินจะรวมข้อมูลหลายที่และใช้เวลานาน ซึ่งผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำต้องหาหลักฐานรายได้มาให้สถาบันการเงิน ขณะนี้การทำธุรกรรมทางการเงินหลายทางมากขึ้น เช่น การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ การใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค โจทย์ของ ธปท.อยากให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ประโยชน์จากข้อมูลกลับไปสู่ผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคจะขอข้อมูลต่างๆ เพื่อขอสินเชื่อ โดยขอข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งต่างๆ มาอ้างอิงได้ อีกทั้งสามารถสมัครขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการหลายรายได้ผ่าน (AISPs) ที่ช่วยรวบรวมข้อมูลและส่งคำขอทางดิจิทัล รวมถึงจัดการบัญชีแบบรวมศูนย์ผ่านโมบานแอพพลิเคชั่นเดียว ที่ช่วยแนะนำผลิตภัณฑ์การออม/ลงทุนที่เหมาะกับผู้ใช้บริการได้ด้วย ซึ่ง ธปท.เตรียมรายละเอียดเรื่องดังกล่าวไว้ จะจัดให้ข้อมูลในวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้