ไม่ใช่เวลาดี๊ด๊า! หมอธีระชี้ไทยติดโควิดใหม่สูงที่ 12 ของโลก ไม่ใช่เวลาดี๊ด๊าเปิดประเทศ เปิดกล่องริมทะเล

528
0
Share:
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทยติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยขั้นโคม่าใกล้ติด 1 ใน 10 ของโลก มีดังนี้
…วันนี้วิเคราะห์ประเทศไทย โดยพิจารณาสถานการณ์การระบาดที่เราก้าวกระโดด รุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว พุ่งพรวดมาติดอันดับ 67 ของโลก ภายในเวลาเพียง 6 เดือนกว่า
.
ยอดติดเชื้อใหม่ของเราเมื่อวาน ถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ มากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และนี่ไม่ใช่เวลามาดี๊ด๊าเปิดประเทศ เปิดกล่องริมทะเล
สติ สื่อสาร สามัคคี คือสามคำที่เราต้องมีจริงๆ
สติ…ต้องมี และรับรู้ว่าตอนนี้วิกฤติมาก ที่ทำมานั้นไม่เพียงพอที่จะควบคุมการระบาด ติดเชื้อกันเป็นว่าเล่น คนรอตรวจคัดกรองก็เข้าคิวกันเป็นคอขวด ไม่ได้ตรวจกันมากมาย แพร่กระจายกันต่อไประหว่างรอคิว มีรายงานคนตายกันมากขึ้นเรื่อยๆ เตียงล้น คนรอจนเสียชีวิตที่บ้าน บ่งถึงความไม่พอ ทั้งนโยบายไม่พอ มาตรการควบคุมไม่พอ และทรัพยากรไม่พอกับการระบาดหนัก และที่สำคัญคือต้องมีสติ รู้ว่าที่ทำกันอยู่เปิดประเทศเปิดกล่องนั้น มันเสี่ยงเกินกว่าจะยอมรับได้ท่ามกลางสถานะการติดเชื้อสูงของประเทศ และวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพจำกัด ดังที่เห็นได้จากรายงานการติดเชื้อของหลายต่อหลายคนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว และหลายประเทศที่เจอประสบการณ์เช่นเดียวกัน
.
สื่อสาร…การบอกความจริง บอกรายละเอียดทั้งหมด ให้แก่ประชาชน คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างสังคมที่รู้เท่าทันโรค รู้เท่าทันสถานการณ์ และสามารถตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที แต่ที่ผ่านมา หากสายตาไม่ฝ้าฟาง คงรับรู้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น และที่ควรปรับน่ะ ควรปรับที่ใด
สามัคคี…คำนี้สำคัญยิ่งนัก ในการร่วมแรงร่วมใจ ร่วมมือกันต่อสู้โรคระบาด ให้เราอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน แต่ต้องเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ หากไม่หลอกตัวเอง เราจะเห็นชัดเจนว่าอะไรจริง อะไรเท็จ อะไรสอดคล้องกับความรู้วิชาการที่ถูกต้อง อะไรคือการมโนใช้ความเชื่องมงายส่วนตัว หรือน่าเคลือบแคลง และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
.
ความสามัคคีในมิติที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในสังคมปัจจุบันนั้นคือ การสามัคคีกันที่จะร่วมกันทักท้วง ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เห็นชัดเจนว่าทำไปแล้วจะพากันลงเหว ต้องมีความกล้าทั้งในเชิงวิชาการ จริยธรรม วิชาชีพ หรือแม้แต่ตามสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ ในการเรียกร้องให้มีการกลับมติที่ไม่ถูกไม่ควร มติที่สุ่มเสี่ยงต่ออคติ และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม นี่คือ”ความสามัคคี”ที่จะนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นวิกฤติไปได้
.
ลองวิเคราะห์ตามหลักวิชาการด้านการป้องกัน ตั้งแต่ระดับ Primordial ซึ่งมุ่งเน้นการกำจัดความเสี่ยงออกไปจากสังคม, Primary ซึ่งมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้คนไปสัมผัสกับความเสี่ยง, Secondary ซึ่งมุ่งเน้นการพยายามตรวจคัดกรองโรคให้เจอโดยเร็วและรีบนำส่งเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาให้หายดีและตัดวงจรการแพร่, Tertiary ซึ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพและป้องกันการเป็นกลับซ้ำ, และ Quaternary ซึ่งหมายถึงการป้องกันไม่ให้คนได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือไม่สอดคล้องกับความจริง
.
เราจะพบว่า ตอนนี้เรายังมีจุดอ่อนอยู่ในทุกด้านของการป้องกัน และถือเป็นวิกฤติความเสี่ยงแบบบูรณาการ (Integrative risk crisis) ที่หากปล่อยไว้เช่นนี้ต่อไป คงจะยากที่จะต้านทาน
เมื่อทราบเช่นนี้ และมองด้วยใจเป็นธรรมทั้งต่อตัวท่านเอง คนที่ท่านรัก และประชาชนในประเทศ
ขอให้ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบาย และเปลี่ยนนโยบายและมาตรการที่เป็นจุดอ่อนเหล่านั้น อะไรตัดได้ตัด อะไรยังไม่ได้ทำก็รีบทำ อะไรเสริมได้เสริม อะไรที่ผิดพลาดไปก็กล้าที่จะออกมายอมรับ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนา และหมั่นตรวจสอบตนเองด้วยสติ ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง และหลักจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรม นี่คือคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เราอยู่รอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน