ผู้อำนวยการ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ นายกฤษณา ศรีนิวาสัน กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐมีอิทธิพลและผลกระทบทันทีทันใดกับข้อจำกัดการเงินในเอเชีย และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชีย การคาดการณ์เกี่ยวกับเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้น ได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการดูแลเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพในเอเชีย
ไอเอ็มเอฟจึงแนะนำว่า บรรดาธนาคารกลางในประเทศที่อยู่ในเอเชียให้ความสำคัญ หรือเน้นหนักไปที่ภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศตนเอง และหลีกเลี่ยงที่จะมีมติบริหารดอกเบี้ยนโยบาย หรือดอกเบี้ยธนาคารกลางด้วยการให้น้ำหนักการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดมากเกินไป
ถ้าธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติในประเทศแถบเอเชีย ตามติดการจัดการดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาใกล้จนเกินไป จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศแถบเอเชียไม่มีเสถียรภาพ ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชีย สอดรับกับผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ นายลี ชาง-ยอง กล่าวว่า โอกาสปรับลดดอกเบี้ยของเฟดที่ลดน้อยถอยลงนั้น ทำให้เกิดความผันผวนอย่างมากกับค่าเงินวอนเกาหลีใต้ และได้สร้างความซับซ้อนให้กับการตัดสินใจใช้นโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ยระยะสั้นว่า เมื่อไหร่จึงจะเหมาะสมในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้
ผู้อำนวยการ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ นายกฤษณา ศรีนิวาสัน กล่าวต่อไปว่า ค่าเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ร่วงอ่อนค่าหนัก รวมถึงทุกสกุลเงินของประเทศในเอเชียที่ร่วงหนักเช่นเดียวกันนั้น สะท้อนถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับดอกเบี้ยในเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นแยกห่างกันเรื่อยๆ เมื่อธนาคารกลางใดเผชิญกับสถานการณ์ในขณะนี้ ธนาคารกลางควรต้องเน้น หรือให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2024 นี้ จะชะลอตัวมาอยู่ที่ 4.5% และที่ 4.3% ในปี 2025 ในขณะที่เมื่อปี 2023 ผ่านมา ขยายตัวที่ระดับ 5.0% นอกจากนี้ เศรษฐกิจในเอเชียคิดเป็น 60% ขิงการเติบโตเศรษฐกิจโลก