2 รัฐวิสาหกิจเวชภัณฑ์เวียดนาม พัฒนาวัคซีนต้านโรคระบาดหมู ASF เสร็จ จ่อผลิตขาย

765
0
Share:
ASF

กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท ประเทศเวียดนาม หรือ MARD เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดหมู หรือ ASF ว่า รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ นาเว็ทโก เวียดนาม เซ็นทรัล เวทเทอร์นารี เมดดิซีน เจเอสซี ( Navetco Vietnam Central Veterinary Medicine JSC) และ ดาบาโก กรุ๊ป เจเอสซี (Dabaco Group JSC) ได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวเสร็จสิ้นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จากนี้ไปเตรียมยื่นเรื่องขออนุมัติการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยดำเนินการส่งตัวอย่างวัคซีนดังกล่าวไปยังสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม ซึ่งเมื่อได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานดังกล่าว รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 ราย เตรียมพร้อมทั้งทรัพยากรมนุษย์ และวัตถุดิบเพื่อเริ่มการผลิตวัคซีนเชิงพาณิชย์ทันที

กระทรวงเกษตรฯ เวียดนาม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่พบการระบาดของโรคระบาดหมู หรือ ASF เมื่อปี 2563 หรือ 2019 จึงได้มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจเวชภัณฑ์ทั้ง 2 แห่ง ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF ในช่วงที่เกิดการระบาด

นาเว็ทโก เปิดเผยว่า ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาดหมู หรือ ASF จากเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรสายพันธุ์ G-delta I 177L ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ผลจากการทดลอง พบว่าสุกรที่รับวัคซีนดังกล่าวนี้ยังคงปลอดภัยเมื่อให้วัคซีนในปริมาณที่สูงกว่าขนาดภูมิคุ้มกันขั้นต่ำถึง 104 เท่า และได้ทดสอบความต้านทานโรคระบาด ASF ของวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมา ปรากฏว่าไม่พบอาการติดเชื้อโรคระบาดหมู ASF หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อผ่านไป 6 วันแรก เทียบกับกลุ่มสุกรที่ทดสอบทางคลินิกโดยไม่ได้รับการวัคซีนดังกล่าวซึ่งพบอาการติดเชื้อโรคระบาดหมู ASF อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเป็นการสะท้อนความเสถียรของคุณภาพวัคซีนป้องกันโรคระบาดหมู ASF ที่พัฒนาขึ้นมาจากสายพันธุ์ G-delta I 177 L.

ทางด้านรัฐวิสาหกิจ ดาบาโก กรุ๊ป ซึ่งอีก 1 องค์กรที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาดหมู หรือ ASF เปิดเผยว่า ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการค้นพบจำนวนเซลล์ไวรัส ซึ่งเหมาะสมสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดหมู ASF โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีชีววิทยาด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์(Institute of Biotechnology, Vietnam Academy of Science and Technology) เปิดเผยผลวิจัยพบว่า กลุ่มสุกรที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมานั้นตายทั้งหมดในช่วง 21 วันหลังพบการติดโรคระบาดหมู ASF นอกจากนี้ สุกรที่ได้รับวัคซีนมีจำนวนแอนติบอดีสูงเพียงพอ รวมถึงมีอัตราหมูรอดชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ เวียดนาม และรัฐวิสาหกิจ นาเว็ทโก คาดว่าหากได้รับการอนุมัติจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ จะสามารถผลิตวัคซีนในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปีนี้