3 ประเทศเอเชีย ยอดโควิด-19 พุ่งสูงสุด เกาหลีใต้ครองแชมป์ติดเชื้อ 75,000 ราย เสียชีวิต 48 ราย ประเทศไทยเริ่มระบาดในเมืองใหญ่ กังวลติดเชื้อในเด็กเพิ่ม

407
0
Share:

ในการอบรม “COVID-19 : สายพันธุ์XBB.1.16 สำคัญอย่างไร?” นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก สัปดาห์ที่ผ่านมา 3 อันดับแรกที่มีรายงานผู้ป่วยมาก ได้แก่ เกาหลีใต้ ราว 75,000 ราย เสียชีวิต 48 ราย อินเดีย ราว 64,000 ราย เสียชีวิต 162 ราย และญี่ปุ่น 56,000 ราย เสียชีวิต 139 ราย แต่ประเทศที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่เยอรมณี อเมริกา และรัสเซีย พบเสียชีวีตหลายร้อยราย

ขณะที่ ประเทศไทยในช่วง 9-15 เม.ย.2566 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยกับสัปดาห์ก่อนหน้า มี 35 จังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 5 % อีก 4 จังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 5 % ที่เหลือมีการเปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่า 5 % โดยสะท้อนให้เห็นว่าการระบาดเริ่มต้นจากเมืองใหญ่ๆ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ2-3 ภาพรวมอยู่ที่ 0.4 % และแนวโน้มผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล และอาการหนักเพิ่มขึ้น หลังสงกรานต์ ตามที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสูงขึ้น 2 ช่วงคือหลังสงกรานต์และช่วงหน้าฝน

“ส่วนโควิด XBB.1.16 ในไทยไทยต้องจับตาดูต่อไป เพราะเพิ่งเจอเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่แนวโน้มอาจไม่ได้รุนแรงมาก หากเทียบสถานการณ์หลังสงกรานต์ของปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสั้นๆ 1-2 สัปดาห์ ถ้าประชาชนมีความร็และปฏิบัติตัวที่ถูกฃต้อง ชะลอการระบาดได้ ส่วนช่วงเปิดเทอมราวพ.ค. ต้องประเมินมาตรการในโรงเรียนอีกครั้ง หากมีการระบาดในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม”นพ.โสภณกล่าว

ด้าน ดร.พิไลลักษณ์ อัคคะไพบูลย์ โอกาดะ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) จัดไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มน่าห่วงกังวล(VOC) ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรค ปัจจุบันยังเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ อัลฟา เดลตา เบตา โอมิครอน กลุ่มน่าสนใจ(VOI) มี 1 สายพันธุ์ XBB.1.5และกลุ่มอยู่ในการติดตาม(VUM) มี 7 สายพันธุ์ BA.2.75, BQ.1, CH.1.1 , XBB ,XBB.1.16 ,XBB.1.9.1 และXBB ส่วนในประเทศไทยสายพันธุ์ลูกผสม XBB,XBB.1.16 ,XBB.1.9.1 เพิ่มขึ้น แนวโน้มทดแทนสายพันธุ์หลักเดิมคือ BN.1 น่าจะราว 1 เดือนจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ XBB.1.16 อาจแพร่เชื้อในระดับที่มากกว่า XBB.1 และXBB.1.5 หลบภูมิคุ้มกันคล้ายกับ XBB.1 และXBB.1.5 ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น การตรวจด้วยATK และRT-PCR สามารถตรวจคัดกรองสายพันธุ์ลูกผสมได้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวัง โควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะในเด็ก จึงขอให้กุมารแพทย์ที่มีคนไข้มีอาการตาแดง ตาแฉะให้ทำการตรวจATK ทุกราย เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ข้อมูลในประเทศไทย แต่ต้องสังเกตความแตกต่างของอาการเนื่องจาก ช่วงนี้อากาศร้อน เด็กอาจมีการไปเล่นน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทำให้น้ำเข้าตาแล้วมีอาการตาแดง ตาแฉะได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่เป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส