3 ยักษ์กลุ่มเอกชนไทยตรึงเป้าเศรษฐกิจไทยปีเสือ ชักหวั่นส่งออกไทยมีอาการแผ่วชัด

351
0
Share:

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมิถุนายน 2565 มีข้อสรุปให้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในกรอบเดิม แม้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้านจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้งต้นทุนและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังขยายตัวจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 2.5 ถึง 4.0% ในกรอบเดิม และคงประมาณการการส่งออกว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0 ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 3.5 ถึง 5.5%

เมื่อไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในวันนี้ (1 มิ.ย.) การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวตามลำดับ แล้วจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจนการที่ททท. ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ไว้ 6-8 ล้านคนจึงน่าจะเป็นไปได้

นอกจากนี้การท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยฟื้นตัวแล้ว 80% ของปี 2562 ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ไว้ว่าจะฟื้นที่ระดับ 70% ในระยะข้างหน้ายังได้อานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม

ส่วนภาคการส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง เศรษฐกิจโลกเผชิญ headwind จากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับอาหารขาดแคลนราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงการขาดแคลนสินค้าสำคัญใน supply chain ภาคอุตสาหกรรม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลางและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จีดีพีอาจจะขยายตัวเพียง 4.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5%

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีโดยมีสัญญาณเตือนจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นในเดือนเม.ย. 2565 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่สำหรับภาพรวมการส่งออกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกยังเติบโตได้อยู่ในระดับ 9.9%

ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ Supply ยังสามารถไปได้ แต่ยังประสบภาวะราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

สำหรับวิกฤติอาหารโลกรุนแรงขึ้นทำให้หลายประเทศระงับการส่งออกอาหารซึ่งไทยอาจได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มเติม สงครามยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในภาพรวมลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาอาหารโลกในเดือน เม.ย. 2565 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 29.8% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศเริ่มเผชิญกับการขาดแคลนอาหารและทำให้กว่า 20 ประเทศใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสาลีน้ำตาล และน้ำมันพืช

ทั้งนี้มั่นใจว่า ประเทศไทยคาดว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารยังน้อยกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งในปี 2565 มีปริมาณสินค้าคงคลังสำหรับสินค้าอาหารสำคัญเทียบกับความต้องการในประเทศในระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับในอดีต ดังนั้น การที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออก จะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าของไทย อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามและบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์