5 ปัจจัยสะท้อนเศรษฐกิจไทยซบเซา

868
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทยอยู่ในสภาวะซบเซา ทั้งรายได้และการใช้จ่ายเฉลี่ยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งจากการสำรวจครัวเรือนจำนวนกว่า 4 หมื่นครัวเรือนในทุก ๆ 2 ปีโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ EIC ได้นำเอาข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่ามี 5 ข้อค้นพบน่าสนใจที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน
.
1) รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีสวนทาง GDP ที่ยังเติบโต โดยในช่วงครึ่งปีแรกครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือน ลดลง -2.1% จากในปี 2560 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยรายได้ครัวเรือนที่ลดลงนั้นสวนทางกับเศรษฐกิจเมื่อวัดจาก nominal GDP ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเดียวกัน
.
2) การใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเช่นกัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อเดือน ลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อเดือนในปี 2560 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง จากความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
.
3) ครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ต่อรายได้แตะระดับสูงสุด ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ หรือ 46.3% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด พบว่าภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 96.1% มาเป็น 97.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหนี้บ้าน หนี้การบริโภค ที่รวมหนี้รถยนต์ และหนี้การเกษตรที่เพิ่มขึ้น
.
4) ครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงและมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น โดยเงินออมที่คำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายเพื่อการบริโภค รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ และรายจ่ายภาษีของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือน ลดลง -2.4% จากปี 2560 ที่ 1,718 บาท และหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังพบว่าครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 โดยเมื่อคิดเป็นอัตราการออมคำนวณจากสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่เพียง 6.4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งอัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ 11 % เมื่อปี 2554
.
5) เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ในการประคับประคองกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ในช่วงที่ความสามารถในการหารายได้อ่อนแอและยังมีความเปราะบางสูง เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งกลุ่มครัวเรือนที่ได้เงินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ19.9% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด
.
ดังนั้นมองว่ามาตรการช่วยเหลือจากรัฐระยะสั้นยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองการใช้จ่ายและการชำระหนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางมากที่สุด และยังต้องมีมาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเช่นการเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนไทยที่มีความอ่อนแอ ทั้งในส่วนของแรงงานและผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับผลิตภาพ