7 ปีจากนี้ไปผลิตรถยนต์สันดาปในไทยดิ่ง 20% เตือน 350 บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป

7 ปีจากนี้ไปผลิต รถยนต์ สันดาปในไทยดิ่ง 20% เตือน 350 บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้รับความนิยมในประเทศไทยและตลาดส่งออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาไทยพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นหลัก แต่ Disruptive Technology อย่างรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่เข้ามาผ่านกระแสพลังงานสะอาด และการหนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดังกล่าวในไทยของภาครัฐ ได้ทำให้ค่ายรถหันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ล้วน (BEV) กับ รถยนต์ใช้น้ำมันร่วมกับระบบไฟฟ้า (HEV&PHEV) ในไทยมากขึ้น

ด้านยอดขายในประเทศของรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากส่วนแบ่งในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่ารถยนต์ BEV และ HEV&PHEV น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในไทยเพิ่มขึ้นไปสู่ 15% และ 16% ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV ในกลุ่มรถยนต์นั่งก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 28% และ 31% ตามลำดับ

ในขณะที่รถปิกอัพมีประเด็นเรื่องเทคโนโลยี และต้นทุนทำให้กว่าจะได้เห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนก็คงเป็นช่วงตั้งแต่ปีนี้ไป เริ่มจากปิกอัพ HEV&PHEV แล้วค่อยขยับสู่ปิกอัพ BEV ในอนาคต

ตลาดโลกก็มีการนำเข้ารถยนต์ BEV และ HEV&PHEV เพิ่มขึ้น โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า ค่าเฉลี่ยการนำเข้ารถยนต์ BEV และ HEV&PHEV รวมกัน ขยับสัดส่วนขึ้นมาที่ 15% ของการนำเข้ารถยนต์รวมทั้งหมดทั่วโลก จากระดับ 5% เมื่อ 5 ปีก่อน แล้วยิ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทย จะพบว่าหลายตลาดเพิ่มการนำเข้ารถยนต์ 2 กลุ่มนี้จากฐานผลิตต่างๆ ทั่วโลกในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก จึงเป็นโอกาสให้ไทยผลิตรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV เพื่อส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น

โดยช่วงแรกเน้นพัฒนาในรูปแบบรถยนต์นั่งตามตลาดในประเทศ และอนาคตพัฒนาเพิ่มสู่ปิกอัพ BEV และ HEV&PHEV ต่อไป อาศัยจุดแข็งที่ไทยเป็นฐานผลิตปิกอัพเพื่อส่งออกระดับโลกอยู่ไปข้างหน้า ความนิยม BEV ที่เร่งขึ้นจะกดดันปริมาณผลิตรถ ICE และ HEV&PHEV ซึ่งจะกระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนเฉพาะกับรถที่ใช้น้ำมัน

แม้ระยะนี้ กระแสพลังงานสะอาดในไทยจะมุ่งไปทั้งรถยนต์ BEV และรถยนต์ HEV&PHEV ทำให้เห็นภาพการเติบโตไปด้วยกัน แต่ระยะข้างหน้ามีโอกาสที่ความต้องการรถยนต์ BEV จะเพิ่มขึ้นอีกทั้งในไทยและตลาดนำเข้าของไทย ส่งผลให้ปริมาณการผลิต BEV โดยหลายค่ายในจีนมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันในไทยให้อยู่ในช่วงขาลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2573 (ปีที่รัฐตั้งเป้าผ่านนโยบาย 30@30 ว่าไทยจะมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ BEV ที่ 30%) การผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันและรถยนต์ HEV&PHEV ในไทยอาจเหลือส่วนแบ่งเพียง 71% ลดลงจากที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่ง 96% ในปีนี้ บนเงื่อนไขที่ Ecosystem ของ BEV ได้รับการพัฒนาจนสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับสำหรับผู้ใช้รถ BEV

ดังนั้น ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้เฉพาะรถยนต์ใช้น้ำมันเฉพาะกลุ่มเครื่องยนต์และชิ้นส่วนระบบส่งกำลังที่มีอยู่มากกว่า 350 รายในประเทศ จะได้รับผลกระทบ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าชิ้นส่วนที่ใช้เฉพาะกับรถยนต์ใช้น้ำมันจะหดตัวด้วยอัตราเฉลี่ยที่ 2.0% ต่อปี จากในปี 2567 ที่ 284,700 ล้านบาท มาอยู่ที่ 252,060 ล้านบาทในปี 2573 โดยกำหนดให้ราคาชิ้นส่วนต่างๆ คงที่

อย่างไรก็ตาม ระดับผลกระทบต่อธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเฉพาะรถยนต์ใช้น้ำมันแต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อป้อนใครและมีการกระจายตัวของคำสั่งซื้อมากน้อยเพียงใด โดยกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งใช้น้ำมันและป้อนค่ายรถที่เน้นขายในตลาดประเทศมากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเร็วและรุนแรงก่อนกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังต้องติดตามว่าการลงทุน BEV ในไทยจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles