8 สายการบินส่งหนังสือถึงคลัง ทวงถามมาตรการขอกู้เงินสินเชื่อต่ำ

1333
0
Share:

มีรายงานว่า ขณะนี้สายการบินในประเทศทั้ง 8 แห่งคือไทยสมายด์ บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ นกสกู๊ต แอร์เอเชีย แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ต ได้ประชุมร่วมกันและออกเอกสารถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สอบถามความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด -19 ที่ต้องหยุดทำการบินเกือบ 100%

.
โดยเนื้อหาได้สอบถามถึงประเด็นหลังจากสายการบินในประเทศไทยทั้ง 8 สายการบิน ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง ถึงการขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงินโดยรวมประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงานให้มากที่สุดของสายการบินในประเทศไทย
.
พร้อมสอบถามความคืบหน้าว่าดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนอย่างไรบ้าง รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกรอบใด เพราะตามมาตรการการช่วยเหลือโดยมติ ครม. ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการช่วยเหลือในกลุ่ม SME เป็นหลัก ยังไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือหรือมาตรการที่เหมาะสมรองรับธุรกิจสายการบิน
.
รวมถึงเงื่อนไขหรือรายละเอียดสำหรับวงเงินกู้อย่างไร เช่น จะให้ธนาคารใดเป็นเจ้าภาพ และมีเงื่อนไขอย่างไรให้เข้าถึงวงเงินดังกล่าวได้จริง และเหมาะสมทันท่วงทีกับสถาณการ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน เช่น สายการบินไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และระยะเวลาอนุมัติไม่นาน
.
พร้อมยังทวงถามถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะธุรกิจสายการบินเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากวิกฤตโรคระบาดได้คลี่คลายลง เพราะจะนำนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง การรักษาให้ทุกสายการบินในไทยยังคงอยู่ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
.
นอกจากนี้ธุรกิจสายการบินในไทยมีพนักงาน 20,000 – 30,000 คน ซึ่งในช่วงเดือนมี.ค.-และเม.ย.เกือบทุกสายการบินได้หยุดทำการบินทุกเส้นทาง หมายความว่าทุกสายการบินไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงจ้างงานพนักงานไว้ให้มากที่สุด ดังนั้นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจสายการบินเป็นอย่างมาก
.
สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 24,150 ล้านบาท ที่ทั้ง 8 สายการบินต้องการกู้นั้น จัดสรรให้แต่ละสายการบิน ดังนี้
.
สายการบินบางกอกแอร์เวย์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท
สายการบินไทยแอร์เอเชีย วงเงิน 4,500 ล้านบาท
สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท
สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ วงเงิน 3,750 ล้านบาท
สายการบินไทยเวียตเจ็ท วงเงิน 900 ล้านบาท
สายการบินไทยสมายล์ วงเงิน 1,500 ล้านบาท
สายการบินนกสกู๊ต วงเงิน 3,500 ล้านบาท
สายการบินนกแอร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท
.
โดยเงื่อนไขการขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้น ขอดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือน เริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค. และสายการบินมีความจำเป็นที่ต้องขอเบิกเงินงวดแรกเป็นจำนวน 25% ของวงเงินกู้ภายใน เม.ย.นี้ เพื่อใช้ประคองธุรกิจให้ดำเนินการได้