รองนายกฯ จุรินทร์ เบรกไม่ให้ มาม่า ขึ้นราคาเด็ดขาด ต้องช่วยผู้บริโภค ย้ำชัดขึ้นราคาไม่ใช่ทางออก

330
0
Share:
รองนายกฯ จุรินทร์ เบรกไม่ให้ มาม่า ขึ้นราคาเด็ดขาด ต้องช่วยผู้บริโภค ย้ำชัดขึ้นราคาไม่ใช่ทางออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หลายยี่ห้อได้ยื่นขอปรับราคามาหลายเดือนแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่ย้ำว่าเห็นใจผู้ผลิต เนื่องจากต้นทุนพุ่งสูงขึ้นไปมาก และหากเกิดหยุดการผลิตแล้วกลัวว่าจะเกิดการขาดแคลน แต่อยากขอความร่วมมือให้ช่วยกันตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด

กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตสินค้าหลายรายการปรับสูงขึ้นจริง แต่ยืนยันว่าจะตรึงราคาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และสินค้าจะต้องไม่ขาดตลาด โดยใช้รูปแบบวินวินโมเดล ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็นรายสินค้า และสินค้าไหนมีความจำเป็นต้องปรับขึ้น จะให้กระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด เช่นเดียวกันหากต้องทุนลดลง ก็ต้องกลับมาทบทวนราคาใหม่

ส่วนราคาน้ำมันปาล์มขวดที่ยังทรงตัวระดับสูงนั้น ยอมรับว่าราคาผลปาล์มน้ำมันสูงขึ้นมาก กระทบทั้งการผลิตน้ำมันบริโภค แต่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่ายขึ้นมาดูแล ทั้งระบบในด้านปริมาณไม่ให้ขาดแคลน และราคาแล้ว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนน้ำมันไบโอดีเซลที่ราคาสูงขึ้น จนหลายฝ่ายอยากให้ปรับโครงสร้างการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลให้เหลือเพียง B3 รวมไปถึงกำกับดูและอัตราค่ากลั่นน้ำมันนั้น เป็นหน้าที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ รวมถึงคณะนโยบายพลังงานที่จะเป็นผู้พิจารณา โดยกระทรวงพาณิชย์จะเน้นย้ำการคุมเข้มหัวจ่ายน้ำมันให้เป็นธรรม และปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน

นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ย้ำว่าขณะนี้มีหลายสินค้ายื่นของปรับราคาเข้ามาบ้าง แต่การขึ้นราคาไม่ใช่ทางออกสุดท้าย เพราะกระทบกับผู้บริโภคจะเห็นได้จากอาหารที่มีการปรับขึ้นราคากัน แต่สุดท้ายกำลังซื้อยังไม่กลับมา ก็ต้องปรับราคาลงมา ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตตรึงราคาให้นานที่สุด แต่ได้พูดคุยรายละเอียด และศึกษาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะพิจารณาให้กระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด และโรงงานก็ยังต้องประกอบการอยู่ต่อไปได้

ทั้งนี้ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายยี่ห้อ เช่น มาม่า กล่าวว่ายอมรับว่า มีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าหลายรายการ เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคเตรียมตัวไว้ก่อน แต่ก็จะพยายามขึ้นราคาให้ผู้บริโภคยอมรับได้

ปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบมากกว่าช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 และส่งผลกระทบรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือ 26 ปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นเงินบาทอ่อนตัวส่งผลให้สินค้าขึ้นราคา แต่เมื่อก่อนเป็นการค่อยๆ ปรับขึ้น แต่ครั้งนี้ ขึ้นพรวดเดียว