ACT มองจัดซื้อหัวรถจักร 50 คันของร.ฟ.ท. ส่อมีพิรุธ-ราคาสูงเกินจริง

1254
0
Share:

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือ ACT ได้รายงานถึงการลงนามสัญญาซื้อ รถจักรดีเซลไฟฟ้าจำนวน 50 คัน มูลค่า 6,525 ล้านบาท มีราคาเหมาะสมหรือไม่ว่า เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามในสัญญาโครงการนี้ เพื่อนำมาทดแทนรถจักรเก่าที่ใช้งานมานาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ช่วยสร้างโอกาสการหารายได้ในอนาคตให้กับการรถไฟฯ
.
จากประเด็นดังกล่าวทางองค์กรฯ สังเกตพบว่าประชาชนได้ตั้งคำถามและถกเถียงกันถึงการจัดซื้อหัวรถจักรครั้งนี้ เช่น ทำไมการจัดซื้อหัวจักรครั้งนี้จึงมีราคาสูงมาก, ทำไมเอกชนที่มารับงานเป็นรายเดิม มีการวางสเปคอย่างไรจึงมีผลออกมาเช่นนี้ รวมไปถึงความเห็นที่ว่าราคานี้สามารถจัดซื้อหัวรถจักรที่ขับในอุณหภูมิ -50 องศาได้เลยทีเดียว
.
โดยการสืบข้อมูลจาก ACT Ai พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electronic Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลาพร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,562,500,000 บาท มีผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ ในราคา 6,525,000,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 37,500,000 บาท หรือ 0.57 %
.
ข้อสังเกตที่ได้จากการสืบค้น คือ
.
วงเงินสัญญา 6,525 ล้านบาท เมื่อเฉลี่ย 50 คัน ราคาตกอยู่ประมาณคันละ 130 ล้านบาท นับว่าเป็นราคาที่สูงมาก
.
การจัดซื้อครั้งนี้ไม่พบข้อมูลการแข่งขันเสนอราคาจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ มีเพียงบริษัทคู่สัญญาที่เสนอราคาและชนะการประมูล
.
บริษัทคู่สัญญา หรือ กิจการร่วมกันค้าเอสเอฟอาร์ เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งพบข้อมูลว่าบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ชื่อเดิมบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด) เคยเป็นผู้ชนะการประมูลไปเมื่อปี 54 แต่โครงการติดปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จนเกิดความล่าช้ามานานกว่า 9 ปี
.
จึงขอชวนทุกคนช่วยกันตรวจสอบการจัดซื้อโครงการดังกล่าวโดยเข้าไปสืบค้นได้จาก ACT Ai หรือคลิกได้ที่นี่ https://tinyurl.com/y5hsa92t เพื่อช่วยเช็กราคาการจัดซื้อรถจักรในครั้งนี้หน่อยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ลองช่วยกันสืบราคาจากตลาดหน่อยว่าบริษัทอื่น ๆ มีราคาแตกต่างกันอยู่ที่เท่าไร หากใครพอจะมีความถนัดทางด้านนี้ comment มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เลย หรือหากต้องการค้นหาข้อมูลโครงการอื่น ๆ เข้าไปได้ที่ https://actai.co/
.
โดยหลังจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นได้มีการนำบทความนี้เผยแพร่ลงในเฟสบุ๊ก ก็มีการแสดงความเห็นอย่างมากมาย ทั้งในส่วนที่ระบุว่ามีราคาแพงเกินไปจริง หรือ ราคาที่แพงขึ้นอาจมาจากภาษี ค่าขนส่ง และค่าบำรุงรักษา
.
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รฟท.ได้เปิดประกวดราคาจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตันต่อเพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,562 ล้านบาท โดยทีโออาร์กำหนดให้เอกชนเสนอแผนซ่อมบำรุงพร้อมราคาอะไหล่ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระยะเวลา 10 ปี กำหนดระยะเวลาส่งมอบไม่เกิน 915 วัน (2 ปีครึ่ง) นับจากวันที่ลงนามสัญญาซื้อขาย หรือวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก รฟท. โดยกำหนดส่งมอบเป็นงวดๆ งวดที่ 1 จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คัน ภายใน 540 วัน งวดที่ 2 จำนวนที่เหลือ ภายใน 915 วัน และรับประกัน 5 ปี
.
การจัดหาหัวรถจักร 50 คันของ รฟท.นั้น ได้มีการเปิดประมูลมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2559 ประมูลจัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน วงเงินประมาณ 6.1 พันล้านบาท แต่ต้องยกเลิกประมูล เนื่องจากกลุ่มบริษัทจีนฯ ที่ยื่นซองเพียงรายเดียวไม่ผ่านคุณสมบัติ ต่อมาได้เปิดประมูลจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คัน อีกครั้ง โดยดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,562.5 ล้านบาท โดยรายที่เสนอราคาต่ำสุดมีปัญหาไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องแบงก์การันตี ซึ่งเอกชนมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญ จึงเห็นว่าสามารถยื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ รฟท.พิจารณาว่าเป็นเอกสารสำคัญและได้เชิญกิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ที่เสนอราคาเป็นอันดับสองมาเจรจา โดยได้ข้อสรุปราคาที่ 6,525 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 37.5 ล้านบาท
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2556 รฟท.ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกับบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด (ปัจจุบันชื่อบริษัท ซานโฟโก้อินเตอร์เนชันแนล จำกัด) ในการจัดซื้อรถจักร 20 คัน มูลค่า 3,300 ล้านบาท ซึ่งผลิต/สร้างโดยบริษัท CRRC QISHUYAN CO.,LTD สาธารณรัฐประชาชนจีน เดิมชื่อ CSR QISHUYAN CO.,LTD ส่งมอบใน 24 เดือน โดย รฟท.ได้ใช้งานตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งมีการร้องเรียนปัญหาหัวรถจักรมีความชำรุดบกพร่องมาโดยตลอด ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ครบจำนวนทุกวัน ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ รฟท.เสียโอกาส ขาดรายได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้า
.
ดังนั้นการลงนามสัญญาซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่จำนวน 50 คันครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการสร้างรายได้ของการรถไฟฯ เนื่องจากปัจจุบันการรถไฟฯ มีรถจักรที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ซึ่งบางคันมีการใช้งานมานานกว่า 44-45 ปี จนชำรุดและต้องปลดระวางไปจำนวนมาก ส่งผลให้มีรถจักรไม่เพียงพอต่อการให้บริการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและสินค้า การจัดหาในครั้งนี้เป็นรถจักรและอะไหล่ใหม่ทั้งหมด โดยหัวรถจักรใหม่นี้มีสมรรถนะในการลากจูงขนส่งผู้โดยสารได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการขนส่งสินค้าที่ความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง