IMF ปรับลดจีดีพีโลกติดลบ 4.9%

739
0
Share:

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ แถลงมุมมองเศรษฐกิจโลกประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 พบว่า ไอเอ็มเอฟลดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก หรือจีดีพี 2 ปีซ้อนติดต่อกัน ในปี 2020 ลดจากเดิมในเดือนเมษายนที่คาดไว้ -3% ลงอีกเป็น -4.9% ทำสถิติเศรษฐกิจโลกที่ต่ำเลวร้ายที่สุดตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี 2021 ลดลงจากเดิม 5.8% หรือ 5.4% ส่วนเศรษฐกิจจีนปี 2020 จะตกต่ำเหลือเพียง 1% เศรษฐกิจอินเดียจะทรุดลงมากถึง -4.5% รัสเซียจะมีจีดีพีปีนี้ย่ำแย่ -6.6% ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียจะมีจีดีพีหดตัว -6.8%

ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับลดเป้าจีดีพีโลกตกต่ำลงจากเดิมอีก เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกส่งผลด้านลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ในขณะที่อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างที่ละเล็กทีละน้อยมากกว่าที่คาดไว้ด้วย นอกจากนี้ มาตรการรักษาระยะห่างจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจและเครือข่ายการผลิตได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่เผชิญอัตราการระบาดติดโรคโควิด-19 พุ่งสูง จะมีการใช้มาตรการปิดเมืองยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบเศรษฐกิจยาวนานขึ้น
.
การคาดการณ์ในครั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ รายงานเสริมว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยความไม่แน่นอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ได้แก่ ระยะเวลาการแพร่ระบาด การรักษาระยะห่างโดยสมัครใจ การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายภาคการผลิตทั่วโลก และการปรับเปลี่ยนตลาดแรงงานใหม่
.
สำหรับภาวะแรงงานโลกนั้น ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า จะเกิดหายนะอย่างรุนแรงกับตลาดแรงงานโลก ซึ่งสะท้อนผ่านจำนวนชั่วโมงทำงานของแรงงานทั่วโลกจะลดลงในครึ่งปีหลังนี้ เทียบเท่าได้กับแรงงานประจำตกงานมากถึง 300 ล้านคน กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด คือกลุ่มแรงงานฝีมือต่ำ ซึ่งไม่มีทางเลือกในการที่จะปรับตัวไปทำงานจากที่บ้านได้ ภาวะสูญเสียรายได้จะเกิดขึ้นกับคนทุกรุ่น โดยเฉพาะในบางประเทศนั้น แรงงานหญิงที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำ จะได้รับผลกระทบอย่างมาก
.
ด้านการปรับลดการคาดการณ์ของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ พบว่า ไอเอ็มเอฟลดเป้าจีดีพีสหรัฐปีนี้ลงทากกว่าเดิมที่ -8% จากเดิมที่ -5.9% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านไป เศรษฐกิจกลุ่มยูโรดำดิ่งมากถึง -10.2% ในภูมิภาคละตินอเมริกา พบว่า บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ จะมีจีดีพีทรุดหนัก -9.1%, -10.5% และ -8% ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย ถูกลดเป้าจีดีพีลงอีก ทรุดหนัก -7.7% จากเดิม -6.7% เมื่อเมษายน
.
ไอเอ็มเอฟ เตือนภาวะหนี้สาธารณะทั่วโลกจะพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สาเหตุจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรายได้รัฐบาลที่ดำดิ่งอย่างรุนแรง พร้อมๆกับการกู้ยืมเงินที่มีขนาดใหญ่โตมากขึ้น ทั้งหมดส่งผลให้มูลค่าหนี้สาธารณะพุ่งสูง ไอเอ็มเอฟประเมินว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกจะพุ่งทะยานมากกว่า 100% ของจีดีพีเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ 101.5% ในปี 2021 จะพุ่งขึ้นเป็น 103.2% นอกจากนี้ ในภาพรวมของการขาดดุลงบประมาณปีนี้จะทะยานขึ้นเป็น 13.9% ของจีดีพีโลก ซึ่งทำสถิติพุ่งขึ้น 10% จากปี 2019