IMF หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.9%

709
0
Share:

นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และไทยว่า IMF ปรับลดจีดีพีของไทยในปีนี้ลงเหลือโต 2.9% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.5% ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
.
พร้อมประเมินเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยืนยันว่า ไทยยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังได้ รวมถึงการจัดการเรื่องดอกเบี้ยที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้แน่นอน ขณะที่การดำเนินนโยบายด้านการคลัง เช่น การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน // การส่งเสริมการปฏิรูปต่างๆ // การสนับสนุนการออม รวมถึงยังมีช่องว่างในการใช้เครื่องมือการคลัง ในการลดแรงกระแทกจากวัฏจักรขาลงของเศรษฐกิจ
.
ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศไทยของไทยในปัจจุบัน มีเพียงพอที่จะรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนไทยควรตั้งกองทุนความมั่งคั่งหรือไม่นั้น IMF ไม่สามารถประเมินได้
.
ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ ปรับลดประมาณการลงเหลือขยายตัว 5% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนเมื่อเดือนเมษายนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.4% และในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 5.1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 5.4%
.
ส่วนสาเหตุที่ปรับประมาณการลง มาจากการค้าและการลงทุนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ จากมาตรการกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการผลิต
.
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว และภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น แม้จะเป็นปัจจัยช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงินของประเทศในภูมิภาค
.
ดังนั้นภายใต้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควรใช้ขีดความสามารถของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเงินควรปรับตัวในเชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น และเร่งให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน
.
พร้อมต้องลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็ก ร่วมกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ รวมถึงการสร้างกันชนทางการคลังเพื่อรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น