ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ซึ่งอยู่ในเครือธนาคารกรุงไทย เปิดเผยการสรุปผลวิเคราะห์ 2 แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นทั้งซูบารุ และซูซูกิ ประกาศหยุดสายการผลิตในไทย มีดังนี้
Krungthai COMPASS มองว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ทั้ง Subaru และ Suzuki ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยนั้นมาจาก 1) การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในระยะหลัง จากการที่ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ที่ทั้ง Subaru และ Suzuki ใช้ทำตลาดในไทย พบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ 2) ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง โดย 5 ปีที่ผ่านมา (2562-66) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ต้องเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท
ในเบื้องต้น ประเมินว่าเฉพาะเหตุการณ์ครั้งนี้อาจกระทบภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ไทยไม่มาก เนื่องจากทั้ง 2 ค่ายรถยนต์มีสัดส่วนการผลิตไม่สูงนัก โดย คาดว่าการผลิตรถยนต์ลดลงราว 6,500 คัน ในปี 2568 จากคาดการณ์เดิมที่ 1,800,000 คัน เหลือ 1,793,500 คัน
อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนแรกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่าจะมีค่ายรถยนต์รายอื่นๆ ต้องหยุดสายการผลิตซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki หรือไม่ เมื่อการแข่งขันจากยานยนต์ไฟฟ้ารุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ดีลเลอร์ควรพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ต่อไป หรือจะ Diversity ไปเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับค่ายอื่นๆ
สำหรับ เต็นท์รถมือ 2 มีความเสี่ยงที่อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงในกรอบ -1.4% ถึง -0.4% ตามการปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงตามราคามือ 1 ที่ลดลง ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอัตรากำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของธุรกิจซึ่งค่อนข้างบางที่ 1.2% เต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดทุนได้