SCB EIC เผยภัยแล้งปีนี้ เริ่มเร็ว รุนแรง

1000
0
Share:

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยและข้าวนาปรังมากที่สุด โดยในกรณีร้ายแรง ผลผลิตอ้อย และข้าวนาปรังอาจลดลงถึง 27% และ 21% ของผลผลิตโดยรวม
.
ในขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังอาจลดลง 7% ของผลผลิตโดยรวม แม้ว่าราคาอ้อย ข้าว และมันสำปะหลังในปี 2563 จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง แต่อัตราการลดลงของผลผลิตที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคา จะยังกดดันให้รายได้ของเกษตรกรลดลง
.
การบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น ภาครัฐอาจส่งเสริมให้เกษตรกรปรับรูปแบบการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำก็ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข โดยอาจวางแผนให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้งซ้ำซาก การส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับสูง
.
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 เริ่มเร็ว รุนแรง และมีแนวโน้มที่จะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา เพราะในช่วงปลายปี 2562 ระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อนหลายภูมิภาคเริ่มลดลงก่อนที่จะผ่านพ้นช่วงฤดูฝน สะท้อนว่าไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งเร็วกว่าปกติ
.
โดยข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนกันยายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวม 1.62 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1.44 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วน 89% ของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายโดยรวม ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 1.8 แสนไร่ และพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนและอื่น ๆ อีก 1,143 ไร่
.
เมื่อพิจารณาระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อน ณ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ พบว่า ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ได้แก่ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ในขณะที่ภาคกลางเผชิญภาวะน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤติแล้ว โดยทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และกลางมีปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และยังต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักของปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีอีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญภัยแล้งระดับรุนแรง
.
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรไทยอย่างหลีกเลยงไม่ได้ EIC จึงได้ประเมินผลกระทบว่า ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากมีการเพาะปลูกมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยข้าวนาปรังเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แล้ว ในขณะที่อ้อยและมันสำปะหลังสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลังจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 ในปริมาณมาก