SCBX ฟาดกำไรไตรมาส 1 ปีนี้กว่า 11,000 ล้าน จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ-รายได้ลงทุน ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 2.8%

63
0
Share:
SCBX ฟาด กำไร ไตรมาส 1 ปีนี้กว่า 11,000 ล้าน จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ-รายได้ลงทุน ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 2.8%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวแถลงผลประกอบไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ว่ามีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ลดลง 4.9% เทียบไตรมาสก่อนหน้านี้ ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมมีจำนวน 2,448,681 ล้านบาท ขยายตัว 0.9% และ 2.1% เทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเทียบไตรมาสก่อนนี้ตามลำดับ สาเหตุจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูกอื่นๆ

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มีจำนวน 10,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% เทียบไตรมาสก่อนนี้ แต่ลดลง 7.6% เทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร และรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 18,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 41% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

บริษัทได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความเปราะบาง อันเนื่องมาจากสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงระดับสูง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 160.6% คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 3.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน

เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ระดับ 9.3% โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 10.34 บาท คิดเป็น 80% ของกำไรสุทธิปี 2566 ตามงบการเงินรวม ซึ่งสูงกว่าในปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

SCBX มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสมและศักยภาพของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเราเดินหน้าสร้างขีดความสามารถในการเติบโตในอนาคต

โดยบริษัทจับมือกับ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำจากประเทศจีน ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพของกลุ่มในการเตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศ

นอกจากนั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท ได้เปิดตัว “ไต้ฝุ่น” โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาด้าน AI ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัท ในการขับเคลื่อนและผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น AI-First Organization ควบคู่กับการสร้างธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย” นายอาทิตย์กล่าว

ในปี 2024 นี้ SCB X วางเป้าหมายทางการเงินคือ 1.การเติบโตของสินเชื่อ 3-5% จากไตรมาสแรกโต 0.9% 2.ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.7-3.9% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.83% 3.อัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ Low-mid single digit จากไตรมาสแรก ลดลง 7.6% 4.อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 43-45% จากไตรมาสแรก 42.1% และ 5.อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อ 1.60-1.80% จากไตรมาสแรก 1.67%

ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการเป็น “ธนาคารที่ดีกว่า” ภายใน 3 ปี ด้วยปณิธานที่จะเป็นธนาคารดิจิทัลที่เป็นอันดับหนึ่งในด้านการบริหารดวามมั่งคั่ง โดยมอบประสบการณ์จากจุดให้บริการลูกค้า Omnichannel ที่ราบรื่นสำหรับลูกค้าในทุกช่องทาง

ในไตรมาส 1/2567 ธนาคารมีการเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยรายได้ค่าธรรมเนียมโดยรวมลดลงเล็กน้อย ส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันภัยที่ลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจที่อ่อนตัวลง รวมถึงการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริหารความมั่งคั่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ท่ามกลางตลาดหุ้นทั่วโลกที่คึกคัก ด้วยแนวทางการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารประสบความสำเร็จในการลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลงเหลือร้อยละ 37.6 จำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 3.37 ในไตรมาส 1/2567 จากร้อยละ 3.29 ในปี 2566 เป็นผลมาจากพอร์ตโฟลิโอของรายการระหว่างธนาคารลดลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของสัดส่วนของสินเชื่อและเงินฝาก ส่งผลให้ตัวหารลดน้อยลง

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงแข็งแกร่งและคงที่ที่ร้อยละ 155.7 ธนาคารยังคงติดตามการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบและต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นในการมีสำรองอย่างเพียงพอที่จะรับมือกับความท้าทายของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สม่ำเสมอ

ในไตรมาสแรกของปี 2567 อัตราส่วนและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของธนาคารลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากไม่มีสำรองพิเศษครั้งเดียวที่จัดสรรให้เฉพาะกับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่บันทึกในไตรมาส 1/2566

ขณะที่ธนาคารยังคงต้องติดตามความเสี่ยงในพอร์ตสินเชื่อรายย่อยอย่างใกล้ชิด ธนาคารยังคงปรับปรุงประสิทธิภาพของงบดุลอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่สูงขึ้นในระดับที่เหมาะสม ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย