TDRI เผยการใช้ม.44 กับกสทช.ทำให้เกิดผลเสียอย่างมาก

866
0
Share:

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI ได้ประเมินผลงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีพบว่า ยังมีนโยบายอีกหลายด้านที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเน็ตประชารัฐ // การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพ ซึ่งหน่วยงานรัฐหลายแห่งแข่งกันทำ แต่ส่วนใหญ่ส่งเสริมไม่ถูกจุด และการพัฒนาบริการของรัฐผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดแอปพลิเคชั่นจำนวนมาก แต่เกือบทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
.
ส่วนนโยบายที่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากคือการใช้คำสั่ง ม. 44 ที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.” หลายครั้ง เช่น การยกเลิกการสรรหา กสทช. ชุดใหม่และภายหลังยังยืดวาระการทำงานของ กสทช. ชุดเดิมที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ทั้งหมดนี้คือการแทรกแซง กสทช. ซึ่งควรเป็นองค์กรอิสระ ให้กลายเป็นองค์กรที่อยู่ใต้อาณัติของ คสช. และรัฐบาล
.
รวมถึงการอุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งชนะการประมูลคลื่น 4G ทั้ง 3 รายคือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ให้สามารถผ่อนชำระค่าใบอนุญาต ซึ่งมีผลทำให้ทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในระดับที่เกินกว่าสมควรมาก ทำให้ทำลายความน่าเชื่อถือในการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆในอนาคต และการผูกโยงการผ่อนชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 4G เข้ากับการได้รับการจัดสรรคลื่น 5G โดยไม่มีการแข่งขัน ยังมีผลทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายสามารถร่วมกันผูกขาดบริการ 5G ได้ต่อไป
.
รวมถึงการออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อการส่งเสริม “เศรษฐกิจดิจิทัล” โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งให้ดุลพินิจแก่หน่วยงานภาครัฐในการใช้อำนาจสูงมาก โดยปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม
.
ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้
•ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย กสทช. โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการสรรหา กสทช. ชุดใหม่
•เร่งรัดให้เกิด “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยใช้กลไกของ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
•เร่งรัดให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของรัฐตามมาตรฐาน “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้
•ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพอย่างมีเอกภาพ โดยมุ่งลดปัญหาจากกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหา
•ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน