ThaiBM คาดเอกชนออกหุ้นกู้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท

562
0
Share:

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMเปิดเผยถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำไตรมาส 2 ว่า ในปีนี้ คาดว่าเอกชนจะออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกออกไปแล้ว กว่า 320,000 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าจะมีหุ้นกู้ที่จะครบอายุ และเชื่อว่าจะมีบางกลุ่มที่จะต้อง rollover กว่า 300,000 ล้านบาท
.
ส่วนกลุ่มที่จะออกใหม่คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มพลังงานทางเลือก ที่ประกาศการซื้อกิจการ หรือ โรงงานในต่างประเทศ เพื่อขยายกิจการ กว่า 160,000 ล้านบาท ดังนั้นเชื่อว่าการออกหุ้นกู้ปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท แน่นอน
.
สำหรับ ตราสารหนี้ไทย ณ ครึ่งปีแรกของปีนี้มีมูลค่าคงค้าง 13.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.25% จากสิ้นปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก
.
ด้านมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 91,814 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมา โดยพันธบัตรรัฐบาลมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้านตราสารหนี้ภาคเอกชน มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 4.89 พันล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน จากการซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.
.
โดยในช่วงครึ่งปีแรก พบว่านักลงทุนต่างชาติมีทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ ในตราสารหนี้ไทย 1.08 แสนล้านบาท โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มมีทิศทางดีขึ้น
.
ด้านการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย 811,068 ล้านบาท คิดเป็น 9.07% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย
.
ขณะที่ในเดือนมิ.ย.63 พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้น โดยปัจจุบัน ถือครองอายุ 0-1 ปี ประมาณ 4% ถือครองอายุ 1-3 ปี 19% ถือครอง 3-5 ปี ที่ 9% ถือครองอายุ 5-10 ปี ที่ 33% ถือครองอายุมากกว่า 10 ปี ที่ 35%
.
ส่วนมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน ณ สิ้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.88 ล้านล้านบาท ลดลง 0.68% จากสิ้นปีก่อน โดยเป็นการลดลงของตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน 95% ยังเป็น กลุ่มระดับลงทุนเรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- (Investment grade)
.
ด้านการออกตราสารหนี้ระยะยาวในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 323,883 ล้านบาท ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การออกตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 340 ลดลง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และพบว่า ในครึ่งปีแรก มีหุ้นกู้ที่ปรับโครงสร้างและขยายวันครบกำหนดอายุ 10 บริษัท มูลค่ารวม 7,247.20 ล้านบาท โดยระยะเวลาที่ขอขยายตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี
.
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยอาจใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ส่งผลให้มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะขยับต่ำลง และอาจมีความผันผวนได้ในบางช่วงหากเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน