การท่องเที่ยวแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Korea Tourism Organization) หรือเคทีโอ รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 นักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนใน 3 อันดับแรกที่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ พบว่า อันดับ 1 เวียดนาม 163,000 คน เพิ่มขึ้น +29% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 158,000 คน เพิ่มขึ้น +76% อันดับ 3 ไทย 119,000 คน ลดลง -21.1% ทั้งหมดเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ท่ามกลางจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้เพิ่มสูงมากขึ้นถึง +86.9%
ผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยลดต่ำลงมาก และฟื้นตัวช้ากว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ มาจากคนไทยมีทัศนคติ และความรู้สึกด้านลบต่อการมาเที่ยวในเกาหลีใต้ เนื่องจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลีใต้เพิ่มความเข้มข้น และเข้มงวดอย่างมากในการปฏิเสธไม่ให้คนไทยเข้าประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับขั้นตอนการกรอกข้อมูลก่อนเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้นั้น เริ่มต้นจาก การกรอกข้อมูลในระบบ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) บนแอปพลิเคชั่น สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศเกาหลีใต้มีทั้งหมด 112 ประเทศ ในจำนวนดังกล่าวมีนักท่องเที่ยว 22 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นทั้งวีซ่าและการกรอก K-ETA เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฝนขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่อยู่ใน 22 ประเทศดังกล่าว
ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวบางรายถึงแม้จะได้รับอนุมัติจากการกรอกข้อมูลบนแอป K-ETA แล้ว แต่เมื่อเดินทางถึงสนามบินนานาชาติในเกาหลีใต้กลับถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงการส่งตัวกลับประเทศไทยทันที ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อกำหนดการเข้าเมืองที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะกับคนไทย ทางการเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สาเหตุจากการที่คนไทยเข้าเมืองและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของเกาหลีใต้ ด้วยการแอบรักลอยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้เมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนด และกลายเป็นแหล่งแรงงานผิดกฎหมายอันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ ที่เรียกกันติดปากว่า ผีน้อย
เมื่อปี 2566 ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล เปิดเผยข้อมูลจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้รวมทั้งสิ้น 182,495 คน แบ่งเป็นเป็นคนไทยที่อยู่อย่างถูกกฎหมายจำนวน 42,538 คน คนไทยอยู่อย่างผิดกฎหมายจำนวน 139,245 คน และนักโทษคนไทยซึ่งทำผิดคดีต่างๆ ตามกฎหมายเกาหลีใต้จำนวน 532 คน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลไทยได้กำหนดให้ปี 2566-2567 เป็นปีแห่งการเยือนเกาหลี-ไทย (Korea-Thailand Mutual Visit Year) โดยหวังว่าจะกระชับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ยืนยันว่ามาตรการเข้มงวดเหล่านี้ มีความจำเป็นสำหรับการป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนไทยแต่อย่างใด ท่ามกลางความไม่พอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย จึงได้เกิดกระแสในสื่อโซเชียลของไทยนับตั้งแต่ปลายปี 2023 ด้วยการเล่าเรื่องราวการถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้ และติดแฮชแท็กว่า, แบนเกาหลี
ก่อนหน้านี้ ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 นั้น นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าเกาหลีใต้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดท่องเที่ยวเกาหลีใต้นั้น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยฟื้นตัวช้า โดยเปรียบเทียบกับระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย.ของปีนี้ จะพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยมีเหลือเพียง 59% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมที่ 88% ในเกาหลีใต้
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมากที่สุดใน 4 เดือนแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คือ จีน พุ่งสูงถึง 470% รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 86% ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 76% อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 51% มาเลเซียเพิ่มขึ้น 35% เวียดนามเพิ่มขึ้น 29% และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 11%