นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเชื่อมต่อได้ทุกเส้นทางนั้น ตามเป้าหมายกระทรวงคมนาคม จะเริ่มดำเนินได้ภายในวันที่ 30 ก.ย.68 โดยยืนยันว่า คนไทยทุกคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะได้ใช้บริการโดยจ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาททุกเส้นทาง 8 สายทาง ซึ่งผู้โดยสารที่ใช้สิทธิ์ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อยืนยันตัวตน โดยกรอกตัวเลขข้อมูลบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร เพื่อเชื่อมโยงกับระบบกลางสำหรับบริหารจัดการรายได้
โดยสาเหตุที่ต้องให้ลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกลางในการเคลียร์รายได้ของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ระหว่างผู้ประกอบการแต่ละราย กรณีมีการเดินทางข้ามสาย เนื่องจากจะทำให้รู้ว่าผู้โดยสารแต่ละคนเดินทางสายไหน จำนวนกี่สถานี ตลอดการเดินทางมีค่าโดยสารเท่าไร และนำมาคิดกรณีที่รัฐต้องชดเชย โดยผู้โดยสารจะจ่ายราคา 20 บาทเท่านั้น โดยยืนยันว่า จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากเพื่อให้การเชื่อมเดินทางข้ามสายจ่ายที่ 20 บาท โดยใช้แอป “ทางรัฐ” เป็นระบบเคลียร์รายได้ โดยจะเริ่มลงทะเบียนในเดือนส.ค. 68 ปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA กำลังพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) และทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ให้บริการแก่ผู้รับบัตร สำหรับบัตรโดยสาร EMV และ Rabbit ABT
สำหรับกรณีบัตรเดบิตให้ใช้เฉพาะ บัตรของธนาคารกรุงไทยเป็นหลัก ส่วนธนาคารอื่นไม่ร่วมเพราะเห็นว่าไม่คุ้ม ส่วนการออกบัตรเดบิต จะมีค่าใช้จ่าย 200 บาทนั้น อยากให้พิจารณาว่า จะเกิดประโยชน์จากการประหยัดค่าเดินทางเพราะจ่ายเพียง 20 บาท เปรียบเทียบกับเดิมที่ต้องจ่ายถึง 180 บาทกรณีเดินทางเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าทุกสาย เท่านี้ก็คุ้มกับค่าออกบัตร EMV แล้ว ส่วนบัตรโดยสารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายฯ ผู้โดยสารยังคงสามารถใช้บัตรโดยสารที่ใช้อยู่เดิมได้ เพียงแต่ต้องลงทะเบียนบัตรเหล่านั้น ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย ในส่วนของการพัฒนาในระยะที่ 2 (เฟส 2) คาดว่า ภายในปี 69 จะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกนชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายผ่านช่องทาง QR Code บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารอีกต่อไป
ทั้งนี้ ประเมินว่า จะชดเชยรายได้ให้เอกชนประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาทมาชดเชยรายได้ฯ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ?. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ ซึ่งจะเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนก.ย.68 แน่นอน
นอกจากนี้รฟม.ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเหลืองและสีชมพู เพื่อแก้ไขสัญญากรณีที่จะจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท และรัฐชดเชยส่วนต่างรายได้ และในระยะต่อไป รัฐบาลมีแนวทางในการซื้อคืนสัมปทานจากผู้ประกอบการรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะดำเนินการเรื่องซื้อคืนได้ภายใน 2 ปี