นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมาคมนาคมได้ดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 โดยได้นำร่องมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าแล้ว 2 สาย ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และปริมาณผู้โดยสารทั้ง 2 สายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งล่าสุด กระทรวงคมนาคมกำลังตั้งคณะการทำงาน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานในรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้นโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงกับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ทุกสี ทุกสาย ตามเป้าหมายในเดือน กันยายน 2568 เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และมีการตั้งคณะการทำงานแล้วนั้น ยังได้มอบหมายคณะแบ่งกันติดตามดูแลรายละเอียดในแต่ละเรื่องว่ามีติดขัดตรงไหน อย่างไรบ้าง จะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น อาทิ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการจัดหาเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะร่างกฎหมายตั๋วร่วม ซึ่งจะต้องพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้ก่อนเดือนกันยายน 2568 เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินงาน และลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม ซึ่งเวลานี้การผลักดันร่างกฎหมายอาจล่าช้าไปประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล
ต้องยอมรับว่ากว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีผลบังคับใช้ได้ จะต้องผ่านหลายกระบวนการ ทั้งการตรวจร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจากที่ผมประสานขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าต้องใช้เวลาตรวจประมาณ 4 เดือน เกรงว่าจะช้าเกินไป และไม่ทันกับเป้าหมายที่วางไว้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็รับจะช่วยเร่งรัดในการดำเนินการให้ ขณะเดียวกันต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าทุกสีได้ภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยประกาศไว้โดยจากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2568 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือ 2 ปี ประมาณ 16,000 ล้านบาท เบื้องต้นเงินที่จะสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วมจะนำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจะหาเงินสมทบจากแหล่งเงินอื่นด้วย อาทิ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วมไม่น่ามีปัญหา โดยเงินในส่วนของ รฟม. กระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ แต่หากร่างกฎหมายตั๋วร่วมยังไม่ประกาศใช้ จะไม่สามารถนำเงิน รฟม.มาใช้สนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ โดยหากจะใช้เงินดังกล่าวได้กับรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม.เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีคณะทำงานเพื่อเข้าไปเร่งรัดในรายละเอียดต่างๆ ทุกจุด