คมนาคมเล็งหั่นค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย ปีใหม่ ม.ค. 68 – ลดช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด

คมนาคมเล็งหั่น ค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย ปีใหม่ ม.ค. 68 - ลดช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 โดยที่ผ่านมาตนได้สั่งการให้ กทพ.ดำเนินการปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทาง และลดอัตราค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยในระยะแรกจะดำเนินการบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร

โดย กทพ.ได้เจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ในเดือนธันวาคมปี 2567 และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือนมกราคม 2568 โดยเบื้องต้นจะยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ การที่ลดค่าผ่านทางที่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชนั้น ผู้ใช้ทางสามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ จ่ายค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ และช่วยลดเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว ข้อดีคือ การจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนนำค่าผ่านทางที่ประหยัดได้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง 2.5 (PM 2.5) รวมทั้งเป็นส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน จะมีการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่าน ผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่า โดยจะทำการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) แบบไม่มีไม้กั้น และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (MTC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง อีกทั้งทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ ผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้มอบหมายให้ กทพ.ไปเจรจาร่วมกับ บีอีเอ็ม (BEM) เพื่อให้ลงทุนก่อสร้าง โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มูลค่าประมาณ 3 หมื่น 4 พัน ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางผ่านพิเศษในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร โดยการก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) จะขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

“ขอยืนยันว่าการขยายสัมปทานดังกล่าว เป็นการแลกกับการก่อสร้าง โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) เท่านั้น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดค่าผ่านทาง โดยตนอยากให้ประชาชนมั่นใจว่า การดำเนินการนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์เอกชน แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ซึ่งตนให้นโยบายไปว่า ทุกกระบวนการต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles