นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น กระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชนแต่อย่างใด โดยยังคงยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก เพียงแต่จะมีการพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อคืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์การให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา และรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป
สำหรับแนวทางดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม ขณะที่รูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทาน และยังคงยึดถือสัมปทานในอายุสัญญาตามที่เอกชนได้รับ
โดยปัจจุบันสัญญารูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด โดยจ่ายค่าจ้างเอกชนจากการจ้างบริหารการเดินรถ
ส่วนกรณีเมื่อสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง ก็จะเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคาตามปกติ แต่จะจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในลักษณะ PPP Gross Cost ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น เช่น สายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ขณะนี้ก็พบว่ามีปริมาณการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การจัดหาแหล่งเงินเพื่อไปซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชนนั้น กระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่