ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 นี้ สถานการณ์ตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มียอดขายตกต่ำลงหนักหนากว่ายุควิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ คิดว่าตกต่ำหนักไม่แพ้ยุควิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 การที่จะประคับประคองสถานการณ์จะยากกว่ามาก เนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้งมีผลกระทบกับเจ้าของกิจการเท่านั้น
แต่วิกฤตรอบนี้ กลับมีผลกระทบกับคนหาเช้ากินค่ำโดยเฉพาะกำลังซื้อทั่วไป ความน่าเป็นห่วง คือความสามารถในการมีบ้านเป็นของตนเองของคนไทยในระดับเริ่มต้นของชีวิตจะไม่มีโอกาสแล้ว คนทำงานใหม่ ๆ จะไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเองอีกแล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยอย่างจริงจัง และต้องช่วยแบบเร่งด่วนด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนจากตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยในตลาดวงกว้างทั่วไป โดยมี 2 กลุ่มราคา คือ ราคา 3-5 ล้านบาท ที่รองรับกำลังซื้อระดับกลาง ได้หดตัวแรงมากถึง -43% ขณะที่กลุ่มกำลังซื้อระดับล่าง ซึ่งมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท พบว่า ทรุดต่ำแรงกว่าถึง -54% ส่งผลให้ทำสถิติตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ New Low ในยอดขายบ้านและคอนโดมิเนียมที่มีราคาต่ำ 3 ล้านบาท ซึ่งลดลงต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี
เมื่อหันมาดูตัวเลขยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย โดยข้อมูลจากกรมที่ดินใน 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือตั้งแต่ มกราคม-พฤษภาคม 2567 โดยเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปีนี้ ปรากฎว่า มีมูลค่าตกต่ำมากถึง -25% จำนวนหน่วยตกต่ำแรงถึง -24% หากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 มูลค่าหดตัว -13% และจำนวนหน่วยหดตัว -12% ซึ่งทำสถิติยอดโอนตกต่ำมากที่สุดในรอบ 6 ปี หรือตั้งแต่ปี 2561 หรือก่อนเกิดโควิด-19 สำหรับประเภทที่อยู่อาศัยนั้น พบว่า ทาวน์เฮาส์มียอดโอนตกต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี เนื่องจากมูลค่าโอนที่หดตัว -17% เทียบช่วงเดียวกันแบบปีต่อปี และมียอดขายตกต่ำที่สุดในรอบ 12 ปีด้วย เนื่องจากยอดขายที่หดตัวอย่างรุนแรงถึง -57%