นายมงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย เปิดเผย รายงานผลสำรวจ 2024 Global Automotive Consumer Study พบว่าความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวีของคนไทยในปี 2024 นี้ อยู่ที่ 20% ซึ่งลดลงจากปี 2023 ที่เคยอยู่สูงถึง 31% หรือตกต่ำลงมากถึง 11% ชั่วข้ามปี
สาเหตุจาก บริษัทรถยนต์มีการเข้ามาแข่งขันในตลาดรถยนต์ของไทยเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะทำให้มีคนสนใจในรถอีวีกันมากขึ้น แต่ผู้บริโภคคนไทยกลับมองปัญหาค่าเสื่อมรถอีวีเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ ผู้บริโภครถยนต์ที่อาศัยตามคอนโดมิเนียม จะให้ความสนใจในรถประเภทไฮบริด หรือ HEV มากกว่า เนื่องจาก ความไม่สะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าของรถอีวี
ท่ามกลางคนไทยส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักไปที่การตัดสินใจซื้อรถอีวีในแง่ความประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับราคาน้ำมัน การลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และการลดความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากความนิยมของรถประเภทต่างๆ ในตลาดรถมือสองในไทย จะพบว่า รถอีวีมีเพียงแค่ 9% เท่านั้น สาเหตุจากคนไทยมีความกังวลปัญหาค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายดูแล บำรุงรักษา และซ่อมแซมที่สูงกว่า เช่น ค่าแบตเตอรี่ เป็นต้น จึงส่งผลให้คนไทยมีความพร้อมที่จะซื้อรถมือสองในรถยนต์เครื่องสันดาป หรือรถน้ำมัน ที่มีสัดส่วนมากถึง 54% และรถยนต์ประเภทเครื่องไฮบริด หรือ HEV/PHEV ซึ่งมีสัดส่วนราว 38%
นอกจากนี้ คนไทยที่เลือกใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถน้ำมันนั้น พบว่า 78% ให้ความสำคัญในการลดความกังวลเกี่ยวกับระยะทางวิ่ง และการชาร์จไฟฟ้า มีมากถึง 67% ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มเติม และ 52% ต้องการความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษา และการปรับแต่งเครื่องยนต์ ที่น่าสังเกต คือ ความนิยมของคนไทยในการใช้รถประเภทเครื่องสันดาปสอดคล้องกับประชาชนในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจนี้ยังคงชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคคนไทยยังเปิดรับกับรถอีวี เนื่องจากความกังวลของคนไทยที่มีต่อรถอีวีในปี 2024 นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2023 พบว่าลดลงในแต่ละด้าน เช่น ความกังวลด้านสถานีชาร์จไฟฟ้าตามที่สาธารณะที่ไม่เพียงพอมีลดลงจาก 48% เป็น 46% ด้านระยะทางในการขับนั้นลดจาก 44% เป็น 39% ด้านระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้านั้น สามารถยอมรับได้มากขึ้น พบว่า ระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดจะอยู่ที่เวลาประมาณ 21- 40 นาที มีสัดส่วนเพิ่มเป็นที่ 38% จากเดิมที่ 25%
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคคนไทยที่ชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่บ้าน กลับมีสัดส่วนลดลงจากเดิมที่ 82% มาอยู่ที่ 70% สอดรับกับการเลือกสถานที่ชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้านั้นกลับไปเป็นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในร้านค้า ร้านกาแฟ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีในสถานีบริการ
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคคนไทยที่จะซื้อรถคันต่อไป พบว่า เมื่อเทียบกับปีผ่านไป ปัจจัยเกี่ยวกับราคามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 47% จากเดิมที่ 18% สาเหตุจากสถานการณ์เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคคนไทย 53% ให้ความสำคัญกับคุณภาพตัวรถ มี 53% คุณสมบัติต่างๆ ของรถ และ 51% สมรรถนะของรถเป็นหลัก
ผู้บริโภคคนไทยกว่า 64% มีความสนใจที่จะลองใช้แบรนด์รถใหม่ บนเงื่อนไขด้านราคา และคุณสมบัติที่ต้องการ ที่น่าสนใจ คือ คนไทยลดความสำคัในแบรนด์เหลือ 31% และภาพลักษณ์ของแบรนด์ลงเหลือ 34% สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการซื้อ หรือการเข่าของผู้บริโภคคนไทยรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18 – 34 ปี หรือในคนเจนซี(Z) พบว่า กว่า 47% สนใจบริการแบบสมัครสมาชิก (Vehicle Subscriptions) มากกว่าการซื้อเป็นเจ้าของรถ สาเหตุจากต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการการซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย ค่าจดทะเบียน และการขายต่อ