นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมธุรกิจนอมินีโดยเฉพาะ ที่สำคัญ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะกับธุรกิจนอมินี ทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายรวมถึงมาตรการระเบียบ เพื่อปิดช่องโหว่กฎหมาย ลดผลกระทบกับประเทศไทย จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทหรือธุรกิจที่เข้าข่ายนอมินีได้ลุกลามกระทบความมั่นคง โดยมีการตั้งธุรกิจดังกล่าวในประเภทธุรกิจถึง 10 สาขา เช่น ขนส่ง ร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ อสังหาริมทรัพย์ ภาคการเกษตร สวนทุเรียน สวนผลไม้ ธุรกิจก่อสร้าง ยังพบว่ามีการเชื่อมโยงปัญหาอาชญากรรม ฟอกเงิน การค้าผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ ภาษี และอาชีพของคนไทย
ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ยังพบว่า บริษัทที่มีต่างด้าวถือหุ้น ซึ่งเข้าข่ายนอมินีในต่างจังหวัดมีเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น จังหวัดจันทบุรี พบว่ามีบริษัทต่างด้าวมากถึง 10-20% ของทั้งหมด สำนักงานตรวจการแผ่นดินจึงขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีทำการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำธุรกรรมนอมินีแทนคนต่างด้าว เช่น การมีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ นิยามคำว่านอมินี หรือธุรกิจนอมินีให้ชัดเจน สร้างกลไกระดับจังหวัดที่มีธุรกิจนอมินีลุกลามเข้าไปมาก ต้องจัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังในพื้นที่โดยเฉพาะ เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด ชุมพร เฝ้าระวังเรื่องที่ดิน พื้นที่ทางการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฝ้าระวังจังหวัดในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดธุรกิจนอมินี
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยต่อไปว่า เสนอให้แก้ไขกฎหมาย การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวปี 2542 ในหัวข้อนิยามคนต่างด้าว และการกระทำที่เข้าข่ายเป็นนอมินีให้ชัดเจน โดยครอบคลุมอำนาจการบริหาร ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีคนไทยถือหุ้น 51% ของทั้งหมด หากพิสูจน์ว่าอำนาจบริหารอยู่กับคนต่างด้าวก็เข้าข่ายเป็นบริษัทต่างด้าว ให้มีการติดตามการโอนหุ้น ซื้อขาย โอนย้ายทรัพย์สินในภายหลัง ที่สำคัญ ต้องมีมาตรการตรวจสอบผู้ถือหุ้นทางฝ่ายไทย เช่น ตรวจสอบสถานะการเงินย้อนหลัง 5 ปี ประสบการณ์ในการทำธุรกิจ แก้ไขให้เพิ่มบทลงโทษทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โทษจำคุกเพิ่มเป็น 5-7 ปี ปรับในวงเงินที่สูงขึ้นสอดคล้องกับขนาธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ เสนอต้องแก้ประมวลกฎหมายที่ดิน เพิ่มโทษจำคุกและปรับคนต่างด้าว หากพบว่ามีความผิดใช้นอมินีซื้อและถือครองที่ดิน โดยให้ยึดทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินมากกว่าที่จะบังคับขายคืน สิ่งที่ต้องเน้นมากที่สุด คือ ต้องแก้ไขให้กฎหมายรุนแรง ครอบคลุม และถือเป็นมาตรการป้องปรามที่สำคัญ ขณะเดียวกันต้องมีการจัดโซนนิ่ง และเฝ้าระวังพื้นที่การเกษตรที่เข้าข่ายจะมีธุรกิจนอมินี หรือความเคลื่อนไหวผิดสังเกตุ เช่น สวนทุเรียน สวนผลไม้ พื้นที่การเกษตรที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ เมื่อปี 2568 มีจำนวน 926,950 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทที่ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติจำนวน 127,522 แห่ง หรือคิดเป็น 13.75% และเป็นบริษัทที่ชาวต่างชาติถือครองหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 มีจำนวน 18,288 แห่ง หรือคิดเป็น 1.97%