นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2567 พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเปิดเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,916 ร้าน เพิ่มขึ้น 165 ร้าน หรือ 2.9% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่แล้วปี 2566 ที่มีจำนวน 5,751 ร้าน ดังนั้น จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่เพิ่มขึ้นเพียง 165 ร้านในปี 2567 ทำสถิติเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่มีอัตราต่ำสุด เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยในปีดังกล่าวมีการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นที่ 230 ร้าน ต่อมาในปี 2565 มีร้านญี่ปุ่นเปิดเพิ่มขึ้นสูงสุด 955 ร้านในไทย
สำหรับประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย พบว่า ประเภทร้านซูชิ ซึ่งเคยเป็นธุรกิจประเภทซูชิมีการเปิดขึ้นเป็นจำนวนร้านมากที่สุดในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2566 นั้น กลับมีจำนวนลดลงเหลือ 1,279 ร้าน หรือ -6.8% ส่งผลร้านซูชิในไทยร่วงหล่นไปอยู่อันดับสอง ในขณะที่ร้านประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีบริการเมนูเป็นเซ็ต และอาหารไคเซกิ กลับเปิดเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนร้านมากที่สุดถึง 1,439 ร้าน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566
ประธานเจโทร กรุงเทพ เปิดเผยต่อไปว่า ในปี 2567 ผ่านไปนั้น ร้านซูชิเปิดใหม่ในไทยเพิ่มขึ้น 181 ร้าน แต่ในเวลาเดียวกันมีร้านซูชิในไทยปิดตัวลงจำนวน 274 ร้าน สาเหตุจากร้านซูชิคุณภาพดีและราคาไม่แพงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการรับประทานอาหารญี่ปุ่นแนวซูชิที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่าในอดีต ส่งผลก่อให้เกิดการแข่งขันกันด้านราคาที่รุนแรง ต่อมาเกิดภาวะร้านซูชิล้นความต้องการของตลาด หรือ Over Supply ในการบริโภคในปี 2562-2565 และอุปสรรคในการใช้วัตถุดิบสด ร้านซูชิที่มีระบบควบคุมความเย็นไม่ดีจึงเป็นการยากที่จะแข่งขันได้ ร้านประเภทแฟรนไชส์ไม่ต่อสัญญา ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในรูปแบบที่ไม่ต้องการบริโภคเพียงแต่ซูชิอย่างเดียว ส่งผลให้ร้านซูชิบางรายต้องเปลี่ยนไปเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้อยู่รอดได้ ผู้บริโภคหันมานิยมร้านประเภทราเมนมากขึ้น