SC Grand ฮับรีไซเคิลสู่แบรนด์ธุรกิจรักษ์โลกคนเจนใหม่ l 24, 28 ธ.ค. 65 FULL l BTimes

949
0
Share:

Dec 29, 2022

เจาะเส้นทาง SC Grand ธุรกิจบนโมเดลบีซีจีกับไอเดียสุดบรรเจิดด้วยการทรานส์ฟอร์มขยะสู่ผืนผ้า เพิ่มมูลค่าได้มากดั่งทองคำ

คุณจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ - กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด SC Grand และแบรนด์ Circular

ผมว่าหลายๆ บริษัทคงอาจจะอยากปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วอะไรอย่างนี้ครับ แต่คราวนี้ก็ต้องมองจุดแข็งตัวเองหรือว่าคุณค่าขององค์กรแต่ละองค์กรอยู่ตรงไหน SC Grand ก็มีจุดแข็งบางอย่างที่เป็นการรีไซเคิลแบบไม่ได้ผ่านการฟอกย้อม ถ้าจะให้ไปตามบริษัทอื่นเราก็ต้องตามเขาตลอด เพราะงั้นเราก็เลือกทางเดินที่แบบเราถนัด แล้วเราน่าจะมีอนาคตที่สดใส แต่ก็ยังแบบส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคมสิ่งแวดล้อม

แบรนด์ SC Grand

จากความตั้งใจดีที่ต้องการสานต่อธุรกิจรักษ์โลกของทางบ้าน ซึ่งคุณวัธ – จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ SC Grand ได้เล่าที่มาให้ฟังว่า ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนสมัยรุ่นอากงที่ประกอบอาชีพค้าขายรูปแบบซื้อมาขายไปกับขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก่อนที่คุณยายจะมารับช่วงต่อ และก่อตั้งโรงงานที่นำของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาทรานส์ฟอร์มร่างใหม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลไปเป็นของใช้ เมื่อยุคคุณยายจบลง คุณแม่ก็เข้ามาสานต่อพร้อมปรับรูปแบบให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำของเสียมาผลิตเป็นเส้นด้าย กระทั่งประมาณปี 2563 คุณวัธก็ได้รับไม้ต่อในการเข้ามาดูแลธุรกิจอย่างเต็มตัว กอปรกับมองเห็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ จึงทำการศึกษาอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการเฟ้นหาพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อเข้ามาร่วมกันพัฒนาจุดแข็ง ต่อยอดให้รากฐานของ SC Grand มีความแข็งแรงและจับต้องได้มากขึ้น รวมไปถึงการขยายรูปแบบธุรกิจจากเดิมที่เน้นให้บริการแค่ B2B ก็เพิ่ม B2C เข้ามา ส่งผลให้แบรนด์ย่อย ‘Circular’ ได้ถือกำเนิดขึ้น

ไม่เพียงแต่เปิดตัวแบรนด์ Circular แต่คุณวัธยังใช้กลยุทธ์การไปคอลแลปส์กับแบรนด์อื่นๆ ตอกย้ำให้ SC Grand มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ จนได้รับการติดต่อจากโรงแรมในประเทศไทย เพื่อนำผ้ารีไซเคิลไปผลิตเป็นผ้าม่านและเครื่องนอน ‘Mango Mojito’ รองเท้าที่ SC Grand ไปคอลแลปร่วมกัน

เมื่อธุรกิจเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น คุณวัธก็เกิดไอเดียที่อยากจะมีพื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า จึงตัดสินใจเนรมิตตึกแถว 4 ชั้นบนทำเลทองย่านสยามสแควร์ ซอย 2 ให้กลายเป็นโชว์รูมสินค้าที่ดีไซน์ภายใต้แนวคิด Circular Economy และในแต่ละชั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นด้วยชั้นที่ 1 เมื่อเปิดประตูเข้ามา ทุกคนจะได้พบกับ ‘Mango Mojito’ แบรนด์รองเท้าที่คุณวัธได้มีโอกาสนำผ้ารีไซเคิลของ SC Grand ไปคอลแลปเป็นคอลเลคชันพิเศษในสมัยที่ตัวเขาเพิ่งเรียนจบ ตื่นตาต่อกับชั้นที่ 2 กับ ‘Circular’ แบรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลกที่มีตัวเดียวในโลก เพราะผ้าทุกผืนไม่ผ่านการฟอกย้อม ทำให้สีที่ได้มีความเป็นธรรมชาติ 100% นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ Circular เป็นที่ถูกใจของผู้ที่พบเห็น

เฟอร์นิเจอร์ ที่ SC Grand ทำร่วมกับชุมชน

ก้าวขึ้นบันไดมาถึงชั้น 3 ที่ถูกประดับไปด้วยม้วนผ้าหลากหลายสี หลากหลายรูปแบบ ที่เพียงแค่ถูกใจ ก็สามารถแสกน QR Code สั่งซื้อได้ทันที ทั้งยังมีโซนตัดเย็บไว้คอยบริการลูกค้าที่ต้องการแก้ไซซ์ร่วมด้วย ต่อเนื่องกับชั้นสุดท้าย ที่ SC Grand ตั้งใจนำสินค้าที่ผลิตร่วมกับชุมชนมาจัดแสดง โดยสินค้าทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์

LCA QR Code บนป้ายอิมแพ็ค

เพื่อเป็นการพิสูจน์และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์ของ SC Grand เป็นสินค้ารีไซเคิลปลอดสารเคมี เป็นออร์แกนิค 100% จึงได้ทำการจับมือกับบริษัทในแคนาดาที่ทำงานให้กับแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนในยุโรป ทำ LCA เพื่อตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ทางแบรนด์มีการลดการใช้น้ำเท่าไร ลดขยะได้ในปริมาณเท่าไร หรือแม้แต่การลดการปล่อย CO₂ ไปมากขนาดไหน ผ่านการแสกน QR Code บนป้ายอิมแพ็คที่ติดอยู่กับสินค้า

แบรนด์เสื้อผ้ารีไซเคิลรักษ์โลก SC Grand

แม้ตอนนี้คุณวัธจะบอกว่าธุรกิจของเขาอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ได้วางเป้าหมายให้ SC Grand เป็นรีไซเคิลฮับให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ควบคู่ไปกับการคิดเพื่อส่วนรวม เพื่อทำให้อุตสาหกรรมยังอยู่ร่วมกันและไปด้วยกันได้ในอนาคต

BTimes