“กระทรวงแรงงาน” โยนหินถามทาง ซาวเสียงปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคม ม.33 แบบขั้นบันไดสูงสุด 1,150 บาท

602
0
Share:

“กระทรวงแรงงาน” โยนหินถามทาง ซาวเสียงปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคม ม.33 แบบขั้นบันไดสูงสุด 1,150 บาท ทำมนุษย์เงินเดือนกุมขมับ ต้องถูกรีดเงินเข้ากองทุนชดเชยสภาพคล่องหรือเปล่า?

ในยุคที่ค่าครองชีพสูง ข้าวของอะไรก็ขึ้นราคา บางอย่างขึ้นชนิดติดลมบน ยิ่งใครมีภาระที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถก็คงจะคิดหนักพอดู ถ้าหากกระทรวงแรงงานจะปรับเพดานอัตราส่งเงินสมทบ ในกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และยังเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดอีกต่างหาก เพราะล่าสุด สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้เปิดให้นายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ร่วมแสดงความคิดเห็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุดที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …” เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนใหม่

โดยประเด็นสำคัญหลักๆ ของร่างกฎหมายที่นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น คือการปรับฐานค่าจ้างจาก 15,000 บาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท รวมถึงการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงสุด 750 บาทเป็น 1,150 บาท

ซึ่งที่มาของการปรับเพดานค่าจ้างเป็น 17,500–23,000 บาท นั้นก็มาจาก
1 .หลักการสากลในการกำหนดเพดานค่าจ้าง
*ค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ประกันตนทุกคน X 1.25 และควรปรับทุกปี
2. ปี 2565 ค่าจ้างเฉลี่ยผู้ประกันตน ม.33 = 18,400 บาท
*ดังนั้นควรปรับเพดานค่าจ้างเป็น 23,000 บาท
3. การปรับเพดานค่าจ้าง 1.25 เท่า ในทันทีอาจส่งผลกระทบ
*เนื่องจาก สปส. ไม่ได้มีการปรับเพดานค่าจ้างขั้นสูงมากว่า 30 ปี จึงปรับแบบขั้นบันใด
2567–2569 = 17,500 (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ของ 23,000)
2570–2572 = 20,000
2573 เป็นต้นไป = 23,000

หากร่างกฎกระทรวงนี้ผ่าน กระทรงแรงงานตั้งเป้าว่าจะบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 หรือปีหน้าเป็นต้นไป โดยค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ละคนให้กำหนดขั้นต่ำ ขั้นสูง ตามรูปอินโฟกราฟฟิกประกอบที่ทาง BTimes ทำขึ้น เพื่อให้ลูกเพจได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ดังนี้
(1) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เงินเดือน 17,500 บาทขึ้นไป จ่ายเงินสมทบสูงสุด 875 บาท
(2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 เงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท
(3) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป เงินเดือน 23,000 บาทขึ้นไป จ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท

“กระทรวงแรงงาน” โยนหินถามทาง ซาวเสียงปรับขึ้น เงินสมทบ ประกันสังคม มาตรา 33 แบบขั้นบันไดสูงสุด 1,150 บาท

ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 บางกรณีจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม แต่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จะไม่ได้รับผลกระทบด้วย โดยผู้ประกันตนจะนำส่ง “เงินสมทบ” 5% ของค่าจ้างตามจริงที่นายจ้างรายงาน ต่อสำนักงานประกันสังคม เช่น

กรณีค่าจ้าง
*เดือนละ 10,000 บาท ผู้ประกันตนจะนำส่งเงินสมทบ
*เดือนละ 500 บาท (10,000 x 5% = 500)
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้าง 15,000 ขึ้นไป มีประมาณ 37% ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะต้องส่งเงินสมทบเพิ่มจากการปรับเพดานค่าจ้าง แต่จ่ายอัตราเงินสมทบ 5% เท่าเดิม

กระทรวงแรงงานให้เหตุผลความจำเป็นในการปรับเพดานค่าจ้างว่า เพื่อต้องการให้สิทธิประโยชน์ (เงินทดแทนการขาดรายได้) พอเพียงกับการครองชีพในปัจจุบันของผู้ประกันตน กระจายรายได้ จากผู้มีรายได้สูงไปสู่ผู้มีรายได้น้อย และเป็นการเพิ่มโอกาสในการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของแรงงานในระบบ

ส่วนข้อดีในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ หลังปรับขึ้นเพดานเงินสมทบ ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับลูกจ้าง คือจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เพราะฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ได้แก่

(1) เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(2) เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(3) เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(4) เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(5) เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(6) เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบด้วย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เห็นด้วยกับการปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมใหม่ โดยมองว่าลูกจ้าง ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจมีการปรับขึ้นเงินเดือน 200-300 บาท การจ่ายประกันสังคมเพิ่มเพียง 10 บาท/วัน เพื่อแลกมากับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นถือว่าคุ้มค่า ส่วนนายจ้างอย่างเอสเอ็มอีที่มีแรงงานไม่เกิน 500 คน ก็จ่ายเงินสมทบคิดเป็น 5,000 บาทต่อวัน ถือว่าไม่เป็นการเพิ่มภาระมากเกินไป แต่ประกันสังคมเองต้องชี้แจงให้ครบถ้วนถึงสิทธิประโยชน์ที่ลูกต้องจะได้กลับมาเพิ่มขึ้นแค่ไหน

ด้านฟากฝั่งของ ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุขคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กลับตั้งข้อสังเกตว่าการปรับขึ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม คิดว่าไม่น่าจะโปร่งใส และมีการศึกษามากน้อยเพียงใด ควรให้คนรับรู้ถึงเหตุผล มีการทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกันตน ก่อนจะปรับขึ้นในอีก 3–5 ปี ไม่ใช่เริ่มใช้เลยในปี 2567 เพราะถ้าในมุมลูกจ้างไม่อยากจ่ายก็ต้องจำใจจ่ายเพราะเป็นกฎหมายจึงไม่มีสิทธิเลือก ซึ่งเชื่อว่ายังมีหลายคนที่ไม่พร้อมจะจ่ายเพิ่มแน่นอน

“การจะปรับเพิ่มเงินสมทบ คิดว่าไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะทำกันเพียงแค่การเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะจะกระทบกลุ่มคนเปราะบางที่มีเงินเดือนน้อย หากถามฝ่ายนายจ้างก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ไหวก็เลิกจ้างพนักงานก็เท่านั้น และคิดว่าเหตุผลการจะปรับขึ้นเงินสมทบมาจากปัญหาโควิด ทำให้คนว่างงาน 2-3 ล้านคนในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงให้ชัดเจน” ผศ.ดร.สันติ กล่าว

ขณะที่นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่าการปรับเพดานเงินสมทบนี้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ซึ่งยืนยันว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการขอความคิดเห็น และทำความเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่การวางกรอบเวลา และเพดานการจ่ายเงินต่างๆ ยังเป็นเพียงตุ๊กตา ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการจริง

เอาเป็นว่าต่อจากนี้บรรดาลูกจ้างมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าจะได้จ่ายเพิ่มหรือไม่เพิ่ม แต่ถ้าใครอยากเสนอแนะหรือมีข้อคิดเห็นกฎหมายฉบับนี้ ก็สามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย www.law.go.th ซึ่งจะปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นี้แล้ว