จับทิศทางคลื่นลมเศรษฐกิจไทย หลัง “เพื่อไทย” รับไม้ต่อ “ก้าวไกล” ขึ้นแกนนำตั้งรัฐบาล ลุ้นไขก๊อกพลิกล็อกจับขั้วกึ่งประชาธิปไตย หรือเดินเกมขั้วใหม่ตรงใจประชาชน

1371
0
Share:

จับทิศทางคลื่นลม เศรษฐกิจไทย หลัง “เพื่อไทย” รับไม้ต่อ “ก้าวไกล” ขึ้นแกนนำ ตั้งรัฐบาล ลุ้นไขก๊อกพลิกล็อกจับขั้วกึ่งประชาธิปไตย หรือเดินเกมขั้วใหม่ตรงใจประชาชน

นับเวลากว่า 2 เดือน ตั้งแต่มีการเลือกตั้งแล้วเสร็จในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ ‘ก้าวไกล’ ชนะการเลือกตั้งก็ถือเป็นการส่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล มารอไว้ที่จุดสตาร์ท พร้อมออกวิ่ง เสนอชื่อโหวตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

บรรดากูรู นักวิชาการต่างก็พากันเดาทิศทางการเมืองในรอบนี้ยาก เพราะต่างไปจากทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ตั้งความหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะนำพาประเทศไปในทางที่ดีกว่าเดิม

แต่เส้นทางการเป็นนายกฯ ของ ‘พิธา’ ไม่ได้ราบรื่น ทุลักทุเลซะมากกว่า จนในที่สุดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถรวบรวมคะแนนโหวตมาได้พอที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะทั้งสองสภา สส. – สว. ลงคะแนนเสียงยังไม่ได้ถึงกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้เสียงโหวตนายกไม่ถึง 376 เสียง ซึ่งเหตุผลสำคัญที่บรรดา สว. ส่วนใหญ่ไม่ยอมเทคะแนนให้พิธา นั่นก็คือนโยบายการแก้กฎหมาย ม.112

และต่อมาในการโหวตครั้งที่สองก็ปรากฏว่านายพิธา ไม่สามารถถูกเสนอชื่อโหวตนายกฯ ได้ด้วยข้อบังคับที่ 41 รวมทั้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากปมหุ้นไอทีวี ที่ยิ่งเป็นเสมือนบาดแผลลึก จนไม่น่าจะสามารถเรียกคะแนนจากฝั่ง สว. อีกครั้งได้

จึงทำให้พรรคก้าวไกล จำใจต้องส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศภายหลังได้หารือกับ 8 พรรคร่วมฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 กรกฎาคม 2566) ว่าจากนี้พรรคก้าวไกลจะส่งไม้ต่อให้กับพรรคอันดับที่ 2 นั่นคือพรรคเพื่อไทย เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลกับอีก 8 พรรคร่วมฯ โดยพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล พร้อมทั้งยืนยันด้วยว่าการประกาศให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในครั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเร็วหรือช้าและเป็นการถอยมากเกินไป เพราะเป็นไปตามที่พิธาได้แถลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนการประชุมรัฐสภา

“เจตจำนงของพี่น้องประชาชนผ่านการเลือกตั้งมีความชัดเจน แม้วันนี้ไม่สามารถผลักดันพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ภารกิจสำคัญที่เหลืออยู่คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่หวังจะเห็นการยุติการสืบทอดอำนาจของขั้วรัฐบาลเดิม” ชัยธวัช กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีความเห็นจากฝั่งภาคธุรกิจ ภาคเอกชนออกอยู่ต่อเนื่องถึงการเร่งเร้าให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด หลักใหญ่ใจความคือความเชื่อมั่นนักลงทุน จะเห็นได้จากตลาดหุ้นไทยที่ปิดทิ้งท้ายในวันศุกร์ในทิศทางบวก ปรับขึ้นไปกว่า 8 จุด หลังจากมีความชัดเจนที่แกนนำรัฐบาลเปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อไทย หลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งถือว่าปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค ต่างจากสัปดาห์ก่อนๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการโหวตนายกฯ ที่แกนนำคือก้าวไกล

อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดการลงทุนต่างชาติ เพราะเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ส่งผลต่อความไม่มั่นของต่างชาติ จึงมีการขายสุทธิตลาดหุ้นไปแล้วกว่าแสนล้านบาท กด SET Index ร่วงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ตามรายงานของศูนย์วิจัย ทีทีบี ที่ชี้ว่าหุ้นไทยกำลังเข้าสู่ภาวะตลาดซบเซา หรือตลาดหมีอย่างเห็นได้ชัด จากดัชนี SET Index ที่ร่วงลงต่อเนื่องจนหลุดแนวต้านสำคัญที่ 1,500 จุด ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2564 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเบาบางลงเหลือเพียง 3–4 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากที่เคยสูงถึงแสนล้านบาทต่อวัน

ความหวังเดียวของบรรดาภาคธุรกิจจึงอยู่ที่รัฐบาลใหม่ ที่ไม่ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าตั้งได้เร็วย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ ซึ่งนายศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าเมื่อนายพิธาไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีแนวโน้มที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะมีการสลับขั้วและเป็นรัฐบาลผสมระหว่าง 2 ขั้ว คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคขั้วเดิม “เป็นรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตย” โดยไม่มีพรรคก้าวไกล ซึ่งหากออกมาเป็นสูตรนี้จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรวดเร็วขึ้นเป็นปลายเดือนกรกฎาคมนี้ อาจไม่ลากยาวเหมือนที่หลายคนกังวล

นายศานิตบอกด้วยว่า ไม่ว่านายกคนต่อไปจะเป็นใครก็ตาม คงต้องทำงานอย่างหนักและหาทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นมาช่วยบริหารและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบาง เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน นักลงทุนไทยและต่างชาติโดยเร็ว โดยต้องเพิ่มมาตรการด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลังมากระตุ้นระยะสั้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่กระทบต่อกำลังซื้อทุกภาคส่วน

ด้านนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่าการเมืองซับซ้อน พลิกผันได้เสมอ ต้องดูกันยาวๆ แต่ถึงอย่างไรก็อยากให้ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจและประเทศเดินหน้า แต่ก็ยังมีห่วงว่าการตั้งรัฐบาลแบบพลิกขั้วจะเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นและไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมืองแน่

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ก็ยังกังวลว่าความล่าช้าในการตั้งรัฐบาลจะมีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณรัฐ และมีผลต่อการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐยังต้องรอรัฐบาลใหม่ในการอนุมัติงบ และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของชาวต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในไทย

ขณะที่นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ ยิ่งช้าปัญหาจะยิ่งลากยาว ที่ผ่านมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณจากภาครัฐเข้ามาในระบบผ่านโครงการต่างๆ ตอนนี้การยุบสภาผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องกังวล หากความชัดเจนไม่มี จะยิ่งสร้างความวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก

แต่นายเสถียรยังรู้สึกเสียดายนโยบายการผลักดันเรื่องสุราพื้นบ้านของพรรคก้าวไกล ที่หากเกิดพลิกล็อกไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็อยากฝากให้รัฐบาลใหม่พิจารณาเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม SCB EIC ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.9% ตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดี แม้การส่งออกจะไม่สดใส ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และนโยบายภาครัฐจะยังมีความไม่แน่นอนสูง เชื่อว่าจะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณไม่มากนัก แต่ถ้าลากยาวปลายเดือนตุลาคม ก็จะไม่ส่งผลดีต่อการเบิกจ่ายงบปี 2567 ของรัฐบาลใหม่บวกกับปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยก็อาจจะไม่สู้ดี

ดังนั้นตอนนี้คงต้องเอาใจช่วยให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่รับไม้ต่อจาก ‘พรรคก้าวไกล’ โหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ได้สำเร็จ พาพรรคร่วมฯ วิ่งถึงเส้นชัยต่อให้ได้ รูปร่างหน้าตา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และกระทรวงต่างๆ คงได้ฉายภาพชัดขึ้น ระลอกคลื่นที่เป็นอุปสรรคเศรษฐกิจไทยคงจะสงบลงได้ ถ้าขั้นต่อไปคือการได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ยิงนโยบายแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชนแบบเร็วแบบสับได้สักที…

BTimes