แบงก์ยอมหั่นดอกเบี้ยกู้ 0.25% เรียงแถวประกาศลดให้แค่รายย่อย 6 เดือน ช่วยแบ่งเบาหนี้กู้ซื้อบ้านได้แค่ไหน?

779
0
Share:

แบงก์ยอมหั่น ดอกเบี้ย กู้ 0.25% เรียงแถวประกาศลดให้แค่รายย่อย 6 เดือน ช่วยแบ่งเบาหนี้กู้ซื้อบ้านได้แค่ไหน?

สินเชื่อบ้านนับเป็นหนี้ก้อนใหญ่สำหรับหลายๆ คน เพราะทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย ถ้าไม่ขยันเอเงินไปโปะแล้วละก็ รวมๆ แล้วทั้งเงินต้นเงินดอก บวกกับระยะเวลาผ่อนชำระต่ำๆ ก็ 25 ปีขึ้นไปแล้ว ได้เป็นหนี้กันเกินครึ่งชีวิตแน่นอน

จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่โซเชียลมีเดียได้มีการแชร์ประสบการณ์ผ่อนบ้าน และพบว่าค่างวดที่จ่ายไป ตัดเงินต้นไปน้อยมาก แต่มากกว่าครึ่งกลายเป็นดอกเบี้ย ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะ 2 ส่วน คือ 1. หลักการคิดดอกเบี้ยของธนาคาร และ 2. ดอกเบี้ยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และถ้าถามว่าทำไมดอกเบี้ยถึงแพงขึ้น คำตอบก็คือดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ที่ปรับขึ้นนั่นเอง โดยขึ้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ จนถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ยังอยู่ที่ระดับ 2.5% ต่อปีอยู่

ในเพจของ BTimes ของเราเองก็เคยมีการแสดงความคิดเห็นกันถึงการคงดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ หรือแม้แต่ข่าวคราวที่รัฐบาลอยากให้แบงก์ชาติ หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงสักที ซึ่งถ้า กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง จะมีผลอย่างไรกับชะตากรรมของคนที่กู้ซื้อบ้านบ้าง?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เคยวิเคราะห์าว่าการที่ดอกเบี้ยบ้านปรับขึ้นเพียงแค่ 1% จะเพิ่มภาระการผ่อนมากขึ้นถึง 10–11% โดยไปกระทบดอกเบี้ยในตลาด 3 ตัวนี้ ได้แก่ MRR MOR MLR ซึ่งตัวที่เกี่ยวกับผู้กู้รายย่อยอย่างเราๆ ก็คือ MRR (Minimum Retail Rate) จัดว่าเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือบุคคลธรรมดาทั่วไป เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน ซึ่งตอนนี้สินเชื่อบ้านส่วนใหญ่ ปรับดอกเบี้ยมาเป็นลอยตัวกันเกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งดอกเบี้ยบ้านใหม่และดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ด้วย

โดยไอ้เจ้าดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือดอกเบี้ย MRR ที่ถ้าคนเคยยื่นกู้สินเชื่อบ้านน่าจะพอคุ้นหูคุ้นตาบ้าง เพราะดอกเบี้ย MRR จะเป็นอัตราดอกเบี้ยรูปแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนใหญ่จะใช้คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งก็จะขึ้นลงเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละธนาคาร คิดจากต้นทุนของธนาคาร เช่น เงินสำรอง ปริมาณเงินฝาก นโยบายการบริหารทรัพย์สิน หนี้สิน สภาพคล่องของธนาคาร อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ ดอกเบี้ย MRR ของบรรดาธนาคารต่างๆ ในปัจจุบัน ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 6–8% กว่าๆ จากแต่ก่อนอยู่ที่ประมาณ 5–6% ดังนั้นคนที่ต้องแบกรับภาระก็ต้องตกเป็นของลูกหนี้แบงก์ในรูปแบบของค่างวดที่แพงขึ้น หรือถ้าไม่ขึ้นค่างวดต่อเดือน ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่นานมากขึ้น เงินค่างวดที่ธนาคารเรียกเก็บ หักลบออกเป็นค่าดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินต้นหลายเท่า

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน และบรรดาคนในรัฐบาล ภาคเอกชนหลายท่าน ต่างก็กดดัน เอ้ย! เรียกร้องไปยังแบงก์ชาติ กนง. ให้ช่วยลดดอกเบี้ยลงเถอะ ถ้าเห็นแก่ประชาชนตาดำๆ ธุรกิจรายเล็กรายน้อยปลาซิวปลาสร้อย ยกมาหลายแม่น้ำถึงผลดีของการลดดอกเบี้ย ถ้าไม่ลดเศรษฐกิจเราจะไม่ฟื้นและถ้าฟื้นจะฟื้นช้า แต่ดูเหมือนทางแบงก์ชาติก็จะยังใจแข็ง เพราะพิจารณาในรอบด้านแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเลย เพราะดูแล้วยังไงซะ เศรษฐกิจก็กำลังฟื้น

แต่ล่าสุดก็เหมือนเป็นการตอกกลับแบงก์ชาติไป 1 กรุบ เพราะท่านนายกฯ ได้เรียกบรรดาแบงก์พาณิชย์รายใหญ่เข้ามาคุยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรึกษาหารือ ขอความร่วมมือให้ช่วยลดดอกเบี้ยธนาคารลง แทนที่จะดันทุรังกดดันฟากฝั่งแบงก์ชาติ โดยทิ้งท้ายไว้ว่า “ก็อยากจะพูดพร้อมกันให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ ชิงดีชิงเด่นกัน ใครลดมากลดน้อยไม่ใช่ ผมอยากให้ทุกท่านน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดูว่าจะช่วยกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็คงจะมีอะไรออกมาหลังจากนี้ ไม่ได้กำหนดเวลา ให้เกียรติกัน มองตาก็รู้ใจ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ผมก็ได้มีการขอร้อง พูดคุย แบบคนที่เคยรู้จักกันมา 10–20 ปี ก็ขอร้องให้ท่านช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยบ้าง ท่านก็รับปากว่าจะไปพูดคุยกัน” เพราะที่ผ่านมาก็เรียกร้องไปหลายหน แต่ก็ดูจะไม่เป็นผล

และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บรรดาแบงก์ต่างๆ ก็ได้พาเหรดพากันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีลง 0.25% ตามคำเรียกร้องของนายกฯ โดยแต่ละแบงก์ก็กำหนดความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี รายย่อย ที่มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง เป็นเวลา 6 เดือน

ในเมื่อแบงก์ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% แล้วจะมีผลต่อดอกเบี้ยกู้อย่างไรนั้น ถ้ายกตัวอย่างแบบคร่าวๆ ก็อย่างเช่น ถ้าเราต้องการขอสินเชื่อบ้านในวงเงินกู้ 1,500,000 บาท / MRR 7% ธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า ปีที่ 1–3 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.45% ต่อปี = เราต้องจ่ายดอกเบี้ย 81,300 ต่อปี (ใน 3 ปีแรก)
พอปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย = MRR –0.25% ฉะนั้นในปีที่ 4 เราจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MRR 7%–0.25% = 6.75% คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของปีที่ 4 เป็นต้นไป
6.75% ของ 1,500,000 บาท = เสียดอกเบี้ย 101,250 บาทต่อปี
ส่วนกรณีที่แบงก์ลดดอกเบี้ย MRR ให้เรา 0.25% ในปีที่ 4 นี้ ก็จะเท่ากับว่าเดิมที่เราจะต้องเสีย ดอกเบี้ยในอัตรา 6.75% ก็จะ เป็น 6.75%–0.25% = 6.5% ต่อปี
6.5% ของ 1,500,000 บาท = จะเสียดอกเบี้ยที่ 97,500 บาทต่อปี ลดลงมา 3,750 บาท

*** หมายเหตุตัวโตๆ ไว้ว่า ตัวอย่างข้างต้นจะเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบง่ายๆ ยังไม่ได้มีการเอาไปคำนวณอัตราค่างวดต่อเดือนแต่อย่างใด

แต่!! แบงก์ยอมที่จะหั่นดอกเบี้ย MRR ช่วยลูกหนี้กันแค่ 6 เดือน นั่นก็แสดงว่าที่เหลืออีก 6 เดือนก็จะต้องคำนวณในอัตราเท่าเดิม ยังไม่รวมว่าถ้าในปีต่อๆ ไปแบงก์จะปรับขึ้นอีกหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราลอยตัวแล้ว

อย่างไรก็ตาม คุณแสงชัย ธีระกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยังกังวลเกี่ยวกับการจำกัดคำว่า กลุ่มเปราะบางกับเอสเอ็มอี เพราะว่าแต่ละธนาคาร มีคำจำกัดความแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะยึดตามความหมายของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นเกณฑ์ ในขณะที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ว่าวงเงินสินเชื่อรายย่อย หรือไมโครจะต่ำกว่า 5 ล้านบาท และวงเงิน 5–50 ล้านบาท จะเป็นวงเงินของเอสเอ็มอี มองว่าควรจะคุยกัน เพื่อใช้ไปในทิศทางเดียวกัน และควรมีตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ก็ยังเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่แบงก์ชาติควรเข้าไปดูเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ในปัจจุบันสูงถึง 25% ต่อปี ซึ่งจากการสำรวจของ สสว. พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากขาดสภาพคล่องและต้องหันไปพึ่งสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 50% ต้องแบกรับดอกเบี้ยมากกว่า 9% ขึ้นไป และอยากให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทบทวนดอกเบี้ยในกลุ่มโกนาโนไฟแนนซ์ที่สูงถึง 36% ต่อปี ถ้าทำได้จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้มาก

ตอนนี้ก็จะมี 6 ธนาคารของรัฐที่ร่วมขบวนลดดอกเบี้ย ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้แล้ว

นักวิเคราะห์มองว่าการที่แบงก์พาณิชย์ยอมหั่นดอกเบี้ยและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM ในครั้งนี้ จะไม่กระทบฐานะการเงินของแบงก์อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นการโฟกัสกลุ่มเฉพาะ และกินเวลาแค่ 6 เดือน เท่านั้น

ส่วนทางด้านผู้กู้หรือลูกหนี้แบงก์ก็จะได้รับผลดีในช่วง 6 เดือนนี้ ซึ่งข้อมูลเรทดอกเบี้ย การคำนวณก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์แต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด ถ้าอยากจะทราบข้อมูลลึกๆ ตัวเลขเป๊ะๆ ของค่างวด หรือเรทนี้เฉพาะลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ อาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยมากกว่านั้น ก็จะต้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อแบงก์เป็นฝ่ายอธิบายจะเข้าใจลึกซึ้งมากกว่า…

BTimes