ถึงเวลาเผาจริง เมื่อปีหน้าเข้าสู่สถานการณ์ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” เต็มตัว คนไทยต้องรับมือกับอะไรบ้าง

573
0
Share:

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็เตรียมจะก้าวเข้าสู่ปี 2566 ที่ต้องบอกว่ามีหลายอย่างที่กำลังรอเราอยู่ โดยเฉพาะสถานการณ์ “ดอกเบี้ย” ที่จำเป็นจะต้องเผชิญกับภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” กันแบบจริงๆ จังๆ จากการพิจารณาของแบงก์ชาติว่าเศรษฐกิจในบ้านเรานั้นเริ่มฟื้นตัว มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวทยอยดึงรายได้กลับมา ดังนั้นแบงก์ชาติจึงผ่อนคลายมาตรการลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) ให้กลับมาเก็บในอัตราเดิมปี 2566

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ เพิ่มความเข้มงวดต่อนโยบาย การเงินและมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

Krungthai COMPASS คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในกลุ่ม M-Rate ราว 0.4%-0.6% ซึ่งจะกระทบต่อผู้กู้รายย่อยที่มีสัดส่วนถึง 91% มากที่สุด

ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนเกิดผลกระทบกันทุกภาคส่วน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ปรับลดอัตรานำส่ง FIDF fee จากแบงก์พาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี จากเดิม 0.46% ต่อปี ไว้ชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และ ลดต้นทุนทางการเงินของระบบธนาคาร ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M-Rate ทุกชนิดของธนาคารขนาดใหญ่ ลดลง 0.4% ในคราวเดียว

และด้วยการที่ในปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แบงก์ชาติจึงมีแนวทางปรับขึ้น FIDF fee กลับไปสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มมีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565 ซึ่งการสิ้นสุดมาตรการลด FIDF fee ในครั้งนี้จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในระบบธนาคารเด้งกลับมาเพิ่มขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และผลที่ตามมาคืออัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบสองเด้ง ทั้งการปรับ FIDF Fee และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สิ่งที่ตามมาต่อจากนี้ก็คือภาคธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ และรายย่อย ผู้กู้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนรายลูกค้ารวมกันสูงถึง 90% ใครที่คิดจะกู้ซื้อบ้านก็จะถูกคิดดอกเบี้ยในเรทใหม่ ซึ่งหมายความว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะซื้อคอนโดมูลค่า 4,000,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 30 ปี เราจะต้องจ่ายค่างวดอยู่ประมาณเดือนละ 16,900 บาทต่อเดือน หากดอกเบี้ยคงที่ 3% จนหมดสัญญาผ่อนหมด รวมเป็นเงินต้องจ่ายทั้งหมด 6,084,000 บาท คิดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ย 2,084,000 บาท

แต่ถ้าสมมติดอกเบี้ยขึ้นมา 1% ค่างวดต่อเดือนที่ต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 19,100 บาทต่อเดือน และหากดอกเบี้ยเป็น 4% จนครบสัญญา นั่นหมายความว่าจะต้องจ่ายเงินไปทั้งหมด 6,876,000 บาท คิดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยคือ 2,876,000 บาทเลยทีเดียว

ยังรวมไปถึงสินเชื่อรถใหม่ ที่ถ้าซื้อรถใหม่ก็จะได้จ่ายดอกเบี้ยในเรทใหม่ ซึ่งดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.99% ต่อปี หรือคิดเป็นลดต้นลดดอก (effective rate) ประมาณกว่า 4% เมื่อเทียบต้นทุนการเงินทะลุ 3% ซึ่งกลุ่มลิสซิ่งได้ปรับขึ้นดักหน้าแบงก์ชาติตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาแล้ว แต่จะไม่ส่งผลต่อค่างวดรายเดือนของลูกค้าเก่าที่ผ่อนอยู่เดิม เพราะดอกเบี้ยเช่าซื้อเป็นการคิดอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา

ส่วนลูกค้าใหม่ก็จะมีภาระการผ่อนที่เพิ่มขึ้น เช่น กรณีกู้ 500,000 บาท ผ่อน 5 ปี หากดอกเบี้ยขึ้น 0.10% ภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นราว 2,500 บาท หรือประมาณ 42 บาทต่องวด ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.20% ผ่อนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5,000 บาท จะมีภาระผ่อนเพิ่มประมาณ 84 บาทต่อเดือน เป็นต้น กรณีกู้ 700,000 บาท ผ่อน 5 ปี ถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.10% ภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น 3,500 บาท หรือผ่อนเพิ่ม 59 บาทต่องวด ถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.20% ภาระก็เพิ่มขึ้น 7,000 บาท หรือผ่อนเพิ่มขึ้น 118 บาทต่องวด

แต่จากนั้นไม่นานก็ได้มีการออกประกาศคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อใช้เป็นราคาเพดานในการคิดดอกเบี้ยของกลุ่มลิสซิ่ง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เช่น ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์แบบลดต้นลดดอก แบ่งตามประเภทรถยนต์ โดยรถยนต์ใหม่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% รถยนต์มือสอง 15% และ รถจักรยานยนต์ 23% อีกทั้งจ่ายหมดก่อนครบกำหนดสัญญาจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย ด้วยหวังว่าจะมีสถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามเพดานช่วยประชาชน

แม้ว่าแบงก์ชาติจะต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในระบบเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องไปกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวนั้นยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงผู้กู้ในทุกกลุ่ม และที่ต้องเตรียมรับมือต่อมานั่นคือความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ และเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียตีกลับ จากที่ปัจจุบันทยอยปรับตัวดีขึ้นแล้ว เพราะอย่าลืมว่าเงินเฟ้อที่สูง ได้ดันต้นทุนธุรกิจ จากทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟ กระทุ้งราคาสินค้าให้พุ่งขึ้นไปแล้วจะเป็นตัวฉุดกำลังซื้อประชาชน

คิดดูเอาว่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องสู้กับค่าครองชีพสูง และปีหน้าต้องเจอกับ “ดอกเบี้ยขึ้น” เต็มตัว จะกู้ซื้อบ้านทั้งทีอาจต้องคิดให้หนักๆ เลยล่ะ ว่าไหม?…

 

BTimes