ตั้งรัฐบาลยังไม่เป็นท่า นักลงทุนเตรียมใส่เกียร์ถอย หุ้นไทยท่าไม่ดี หุ้นฉาวเพียบ กดความเชื่อมั่นเข็นไม่ขึ้น นักลงทุนเบรกแผนให้วุ่น

904
0
Share:

ตั้งรัฐบาล ยังไม่เป็นท่า นัก ลงทุน เตรียมใส่เกียร์ถอย หุ้นไทยท่าไม่ดี หุ้นฉาวเพียบ กดความเชื่อมั่นเข็นไม่ขึ้น นักลงทุนเบรกแผนให้วุ่น

ตั้งรัฐบาลยังไม่เป็นท่า นักลงทุนเตรียมใส่เกียร์ถอย หุ้นไทยท่าไม่ดี หุ้นฉาวเพียบ กดความเชื่อมั่นเข็นไม่ขึ้น นักลงทุนเบรกแผนให้วุ่น แล้วจะเอาอะไรมามั่นใจเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ถ้ารัฐบาลใหม่ยังไม่คลอด

ตั้งแต่การเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ คนไทยก็ยังไม่ได้เห็นหน้าตารัฐบาลใหม่เป็นจริงเป็นจังสักที หรือแม้แต่โผ ครม.” โดยเฉพาะ ครม.เศรษฐกิจ ที่เป็นความหวังในการที่เข้ามากอบกู้เศรษฐกิจไทย ก็ยังเป็นแค่โผทิพย์ มาตั้งแต่เมื่อช่วงรวมพรรคร่วม 8 พรรคใหม่ๆ

จนล่าสุดเรือ 8 พรรคร่วมที่ว่าเหนียวแน่นก็กลับล่มไม่เป็นท่า จากปมโหวตฯ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งนายกฯ ที่ไปไม่ถึงฝั่ง ทำให้เพื่อไทย ต้องมารับไม้ต่อในการตั้งรัฐบาล และได้สลัดทั้ง 8 พรรคแบบไม่สน MOU หรือที่แรกๆ เปรียบกันเป็นเจ้าสาว เจ้าบ่าวที่รักกันเหลือเกิน

ประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หลายคนต่างพากันลุ้นประหนึ่งดูซีรี่ส์เรื่องยาว ดรามา โรแมนติก หักมุม มีครบรส แต่สิ่งที่เกิดไม่ได้สร้างเพียงอรรถรสให้ประชาชนติดตาม แต่ยังได้สะท้อนไปยังความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุน นักธุรกิจ ว่าถึงตอนนี้แล้ว การเมืองไทย “จะเอายังไง?” ทำเอานักลงทุนไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไทย หรือนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม ต่างเบรกแผน เพื่อรอดูท่าทีของรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายทิศทางการส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจไปในทางไหน

โดยเฉพาะตลาดหุ้นบ้านเรา ที่ตั้งแต่หลังเลือกตั้งก็สวิงไม่หยุด กระดานกลับออกไปในโทนแดงซะมากกว่า หลักๆ ก็มาจากการที่นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นไทยออกไป ปิดรูดกันไม่เว้นแต่ละวัน นอกเหนือจากประเด็นการเมืองก็ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายของเฟด ท่าทีของเร่งขึ้นดอกเบี้ย จนกระทั่งการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินในบ้านเรา หลายๆ ปัจจัยจึงรุมเร้ากดดันหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จนถึงปัจจุบัน (15 พฤษภาคม – 3 สิงหาคม 2566) พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาด “ดิ่งในแดนลบ” รวมแล้วทั้งหมด 30 วัน โดยลดลงหนักสุดคือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีดิ่งกว่า 21.27 จุด ลดลง 1.37% จากดัชนีวันก่อนหน้า ขณะเดียวกันนับตั้งแต่ 15 พฤษภาคม – 3 สิงหาคม 2566 พบว่านักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิรวมทั้งสิ้น 55,336.19 ล้านบาท

ล่าสุดสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20 – 31 กรกฎาคม 2566) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2566) อยู่ที่ระดับ 83.45 ปรับขึ้นเล็กน้อย 2.2% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” แต่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”

โดยปัจจัยที่นักลงทุนมองว่ามีผลต่อการตัดสินใจลงทุนมากที่ที่สุดในตอนนี้ ก็คือการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการไหลเข้าของเงินทุน

เช่นเดียวกันกับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รองลงมาคือการประกาศจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax : FTT) และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO บอกว่า ผลสำรวจเดือนกรกฎาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศปรับลดลง 33.3% อยู่ที่ระดับ 66.67 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนี SET Index ผันผวนตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 ก็มีที่มาจากปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ไม่มีความชัดเจนและยังไม่สามารถเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งแรงขายสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ถูกปรับลดลงจาก 3.6% ของ GDP ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่เฉลี่ย 3.5% รวมถึงการคาดการณ์รายได้นักท่องเที่ยวลดลง การส่งออกชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ของปีนี้

และที่น่าสังเกตนั่นก็คือ ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 46,002 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 12,558 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ของปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 118,181 ล้านบาท

การที่สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นมีความผันผวนจากความไม่ชัดเจนด้านการเมือง ส่วนในตลาดหุ้นกู้ก็เต็มไปด้วยความไม่เชื่อมั่น ทั้งจากประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็น EARTH, ALL และล่าสุดคือ STARK สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายรายวันที่เบาบาง

นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทย อยู่ในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะประเด็นด้านการเมืองที่ยังไม่มีข้อสรุป ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ทิศทางดอกเบี้ยที่กำลังเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันนักลงทุนมีความกังวลสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้ ที่กำลังมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง หลังหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนบางราย ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ ทำให้ความต้องการซื้อ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ลดลง

ทุกวันนี้มีแต่ความไม่แน่นอน หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเอกชนนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ที่ต่างประเมินว่าหากยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ ตั้งรัฐบาลไม่ได้สักที ลากยาวออกไป ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ทั้งการบริโภค การลงทุนทั้งนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนไทย ทั้งรัฐบาล เอกชน ต่างพากันใส่เกียร์ว่างดูทิศทางลมกันหมด หนีไม่พ้นเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักเป็นแน่

เช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรง ซึ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานผลิตตอนนี้ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศต่างชะลอแผนการลงทุนทั้งหมด แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์หลายๆ ด้าน แต่เมื่อการเมืองยังไม่ชัดเจนก็คงต้องรอดูสถานการณ์ พวกที่รอไม่ไหวก็หันไปลงทุนในเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่าคู่แข่งของไทยอย่างเช่น มาเลเซีย มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภค ไม่แพ้ไทย ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามที่ได้เปรียบเรื่องรัฐบาลมีเสถียรภาพ ค่าไฟฟ้าและ ค่าแรงราคาถูกกว่าไทย น่าดึงดูดให้ไปซบอก ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียน่ากลัวที่สุด เป็นแหล่งวัตถุดิบนิกเกิล และยังเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับการลงทุนผลิตอีวี

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยังกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและการใช้จ่ายของคนในประเทศด้วย ทั้งที่ในช่วงปลายปีกำลังซื้อควรจะดีกว่านี้ แต่ตอนนี้กำลังซื้อทั่วประเทศทรุดฮวบ ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งเฉลี่ยครอบครัวละกว่า 500,000 บาท และปัญหาการเมืองไม่นิ่ง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2566 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าอยู่ที่ระดับ 55.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.7 โดยเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เพราะยังกังวลกันว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้า และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แถมดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจกระทบเศรษฐกิจไทยนั่นเอง

บรรยากาศการเมืองที่ยังยักแย่ยักยัน ไม่ชัดเจนสักทีนี้ หากปล่อยไว้นานอาจจะยิ่งบานปลาย กลายเป็นเนื้อร้ายเศรษฐกิจ รักษาอีกคราตอนได้รัฐบาลใหม่ อาจจะต้องงานใหญ่งานหนักน่าดู…

BTimes